๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

โครงการ การผลิตยาสมุนไพร

จังหวัด กรุงเทพมหานคร


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับสมุนไพรไทยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชนั้น เริ่มต้นจากพระมหากรุณาธิคุณ และความใส่พระราชหฤทัยในด้านการสาธารณสุขของพสกนิกร ซึ่งพระองค์ท่าน นอกจากจะทรงใช้วิธีการดูแลพสกนิกร ผ่านทางบุคลากรทางการแพทย์จากหลายสาขา แล้วนั้น ด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกล พระองค์ก็ยังทรงมีพระราชดำริที่ในเรื่องจะต้องให้ความสนใจใน สมุนไพรไทย ซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานานตั้งแต่ในอดีต

จึงทรงเห็นว่า ควรจะได้มีการส่งเสริมการใช้และการพัฒนาสมุนไพรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยพระองค์ได้ทรงดำเนินการ เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่ามีโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาพัฒนาและอนุรักษ์สมุนไพรเกิดขึ้นหลายโครงการ รวมทั้งโครงการที่เกี่ยวข้องโดยทางอ้อมอีกเป็นจำนวนมาก เช่น

• โครงการสวนป่าสมุนไพรของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ

• ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ

• โครงการสวนแม่พันธุ์ต้นซิงโคนา

• โครงการภายใต้มูลนิธิโครงการหลวง

• โครงการสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นต้น

ยกตัวอย่างโครงการด้านสมุนไพรไทยอย่างเด่นชัดที่สุด ได้แก่ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่จำนวน ๑๕ ไร่ จัดสร้างสวนป่าสมุนไพรชนิดต่างๆไว้ศึกษาวิจัยทางวิชาการเผยแพร่การใช้ประโยชน์ และ เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ

การนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชนี้แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องกับปรัชญาในการพัฒนาสังคมของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ๕ ประการ คือ

๑. การส่งเสริมศักยภาพในการพึ่งตนเองของประชาชน

๒. การอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์

๓. การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย

๔. เศรษฐกิจพอเพียง

๕. การพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่

ซึ่งแนวพระราชดำริเรื่องการนำสมุนไพรมาศึกษาและวิจัยนี้ต่อมาได้นำไปสู่การศึกษา พัฒนา และ การนำพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่น รวมทั้งสมุนไพรจากต่างประเทศเข้ามาทดลองปลูก และทดลองทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาใช้

สมุนไพรกับโครงการหลวง

พืชสมุนไพรเป็นพืชอีกกลุ่มหนึ่งที่มูลนิธิโครงการหลวงได้พยายามพัฒนาให้เป็นพืชทางเลือก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

๑. เสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรตามพระราโชบายในการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นบนพื้นที่สูงของเกษตรกรชาวเขา

๒. ลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า

๓. เพื่อธำรงไว้ซึ่งความกินดีอยู่ดีของพสกนิกรบนพื้นที่สูง

ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวง ได้ศึกษาและค้นคว้าพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ ไปเป็นจำนวนมาก หลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชกลุ่มเครื่องเทศและพืชหอม ซึ่งมีมูลค่าผลผลิตสดต่อปีหลายแสนบาท และมูลค่าผลิตภัณฑ์แปรรูปมากกว่าสามล้านบาท ปัจจุบันมูลนิธิ โครงการหลวงกำลังขยายงานวิจัยเพื่อพัฒนาพืชกลุ่มนี้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชสมุนไพรพื้นบ้านบน พื้นที่สูง ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านหรือพืชป่าและมีอยู่จำนวนมากในเขตพื้นที่รับผิดชอบของมูลนิธิโครงการหลวง จากการศึกษาเบื้องต้นโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมูลนิธิโครงการหลวงพบว่า เฉพาะในพื้นที่ดอยอ่างขางแห่งเดียว ซึ่งมีชาวเขา ๕ เผ่าอาศัยอยู่ คือจีนฮ่อ, ไทใหญ่, มูเซอ, เย้า และปะหล่อง เฉพาะชาวปะหล่องเผ่าเดียวมีการใช้ประโยชน์จากพืชท้องถิ่นถึง ๒๒๘ ชนิด ในจำนวนนี้เป็นพืชอาหาร ๘๘ ชนิด และเป็นพืชยาถึง ๕๑ ชนิด

นอกจากนี้นักวิจัยยังพบอีกว่าในจำนวนนี้พืชหลายชนิดมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่อาจพัฒนาเป็นพืชเครื่องเทศ และพืชน้ำมันหอมระเหยได้ เช่น ตะไคร้ต้น อีหลืน มะแขว่น พืชบางชนิดมีสารออกฤทธิ์ควบคุมโรคและแมลงได้ เช่น สาบหมา คาวตอง ค้างคาวดำ พืชบางชนิดมีฤทธิ์ทางยา เช่น ผักเชียงดา ช่วยลดน้ำตาลในเลือด เป็นต้น ดังนั้นพืชท้องถิ่นเหล่านี้จึงมีศักยภาพในการพัฒนาในหลายรูปแบบ๕๐สำหรับพืชสมุนไพรที่ทางมูลนิธิโครงการหลวงนำมาปลูกนั้นแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มคือ กลุ่มพืชสมุนไพรและเครื่องเทศเมืองหนาว และพืชสมุนไพรพื้นบ้านบนพื้นที่สูง โดยมีพันธุ์พืชที่ทดลองปลูกดังนี้คือ

๑. พืชสมุนไพรและเครื่องเทศเมืองหนาว ได้แก่ ตังกุย คาโมมาย ซอเรล ไชว์ อิตาเลี่ยน พาร์สเลย์เลมอน บาล์ม มาร์จอแรม มินต์ ออริกาโน่ โรสแมรี่ เสจ ทายม์ เจอราเนียม ลาเวนเดอร์ และสวีทเบซิล

๒. พืชสมุนไพรพื้นบ้านบนพื้นที่สูง ได้แก่ ตะไคร้ต้น ตะไคร้หอม กะตังใบ กะตังแดง กระเม็งกำลังเสือโคร่ง โกฐจุฬาลัมพา ไข่ปู (หนามไข่ปู หรือมะหู้ไข่ปู) ครามป่า (ครามขาว) ต่างไก่ป่า ทะโล้ (สารภีดอย หรือมังตาน) ปัญจขันธ์ (เบญจขันธ์) ปิ้งขาว ผักบุ้งส้ม ผักไผ่ดอย ผักแพวแดง พุทธรักษา เพี้ยกระทิง (สะเลียมดง) ไพลดำ รางจืดเถา (หนำแน่) ว่านท้องใบม่วง ส้มผด สาบแร้งสาบกา สาบเสือ สาบหมา สามร้อยยอด สีฟันคนทา หญ้าถอดปล้อง หญ้าเอ็นยืด อัคคีทวาร อูนป่า เอื้องหมายนา และฮ่อมช้าง

ในปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงได้มีการนำสมุนไพรที่ปลูกได้ในโครงการมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แชมพู – ครีมนวดผม, โลชั่น, ยาสีฟัน, สบู่, ยาระงับกลิ่นปาก, น้ำยาบ้วนปาก, เจลบรรเทาปวด,รอยัลบาล์ม, น้ำมันหอมนวดตัว, สเปรย์บรรเทาปวด, สเปรย์ระงับกลิ่นเท้า, สมุนไพรไล่ยุง และน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น


ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข