๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

โครงการ ศูนย์สาธิตการเกษตรแบบผสมผสานจังหวัดชัยนาท

จังหวัด ชัยนาท


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อปี ๒๕๔๒ นายศุภชัย ผดุงเจริญ ได้ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวนเนื้อที่ ๔๑-๓-๒๐ ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลสุขเดือนห้า กิ่งอำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท เพื่อให้ดำเนินการพัฒนาที่ดินแปลงดังกล่าวให้เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาในด้านต่าง ๆ ตามแนวพระราชดำริ

พระราชดำริ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุมัติให้พัฒนาที่ดินเป็น “ศูนย์สาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน” โดยใช้หลักการแนวคิดทฤษฎีใหม่เพื่อเป็นศูนย์สาธิตเทคโนโลยีการเกษตร และเป็นแหล่งขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดีสู่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป

หน่วยงานรับผิดชอบ ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท กรมวิชาการเกษตร

ผลการดำเนินงาน :

๑. กิจกรรมข้าว สาธิตการปลูกข้าวพันธุ์ดี เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิต และการผลิตข้าวเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ โดยใช้พันธุ์ข้าวพิษณุโลก ๓ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวปลูกถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท ๗๒ และผลิตข้าวนาปี ได้ทำการตกกล้าข้าวพันธุ์พิษณุโลก ๓ การเจริญเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี

๒. กิจกรรมพืชไร่ สาธิตพันธุ์พืชไร่พันธุ์ดี และเทคโนโลยีการผลิตพืชไร่ ดังนี้

- ปลูกถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท ๗๒ แต่เก็บผลผลิตไม่ได้ เนื่องจากสภาวะฝนทิ้งช่วงประกอบกับน้ำในสระมีปริมาณไม่เพียงพอ

- ปลูกข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮบริกซ์-๓ จำนวน ๒ แปลง

- อ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี ๘๐ ปัจจุบันอยู่ในช่วงการเจริญเติบโตและดูแลรักษา

๓. กิจกรรมพืชผัก จัดทำแปลงปลูกพืชหมุนเวียน ได้แก่ ถั่วฟักยาว และมะเขือเปราะ ในพื้นที่ ๑ ไร่

๔. กิจกรรมไม้ผล พื้นที่ ๔ ไร่ แบ่งออกเป็น ๒ รูปแบบ ดังนี้

- การปลูกไม้ผลพันธุ์ดีชนิดต่างๆ แบบผสมผสาน เพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมไม้ผลพันธุ์ดี เช่น มะม่วง ชมพู่ ส้มโชกุน ฝรั่ง โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงดูแลรักษา

- การปลูกไม้ผลเชิงเดี่ยวเชิงพาณิชย์ ปลูกส้มโอจากต้นตอปลอดโรค จำนวน ๒ พันธุ์ คือ พันธุ์ทองดี และพันธุ์ขาวแตงกวา ขณะนี้อยู่ในช่วงติดผลและดูแลรักษา

๕. กิจกรรมโรงสีขนาดเล็ก ให้บริการสีข้าวกับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงโดยเกษตรกรนำข้าวเปลือกมาสีฟรี และโครงการฯ ได้ส่วนปลายข้าว และรำ

๖. กิจกรรมแปรรูปถั่วเขียว ดำเนินงานแปรรูปถั่วเขียวทอดโดยใช้ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท ๗๒ เมล็ดสามารถแปรรูปเป็นถั่วเขียวทอดขนาดบรรจุถุง ๒ X ๘ นิ้ว (๕๐ กรัม/ถุง) ได้ทั้งหมด ๔,๔๑๔ ถุง

๗. กิจกรรมปศุสัตว์และพืชอาหารสัตว์ สาธิตการเลี้ยงโคพันธุ์พื้นเมือง จำนวน ๔ ตัว ดูแลรักษาหญ้าที่ปลูกไว้ และหญ้าบางส่วนได้ตัดให้วัวกินแล้ว

๘. กิจกรรมป่าไม้ จัดทำแปลงสาธิตการสร้างป่าชุมชน และชนิดของไม้ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และชนิดของดินในพื้นที่ ๔ ไร่ ประกอบด้วยไม้ชนิดต่างๆ ได้แก่ สะเดา พะยอม ยางนา ยมหอม ประดู่ มะตูม หว้า ไม้แดง ไผ่ กล้วยหอม และมะพร้าว การเจริญเติบโตอยู่ในระดับปานกลาง

๙. กิจกรรมอนุรักษ์ดินและน้ำ จัดทำแปลงสาธิตพันธุ์หญ้าแฝก ๗ พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เชียงราย พันธุ์ชัยภูมิ พันธุ์เชียงใหม่ พันธุ์ราชบุรี พันธุ์แม่ฮ่องสอน พันธุ์อุดรธานี และพันธุ์ป่า สาธิตวิธีการปรับปรุงดินก่อนและหลังการปลูกข้าว โดยใช้ปุ๋ยพืชสด การใช้หญ้าแฝกในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดิน รวมถึงการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินโดยปลูกแฝกในบริเวณรอบๆ แปลงปลูก พืชไร่ พืชสวน และบริเวณรอบสระน้ำ

๑๐. กิจกรรมผลิตปุ๋ยอินทรีย์ นำวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาผลิตน้ำหมักชีวภาพ จำนวน ๒,๐๐๐ ลิตร เพื่อใช้ในแปลงปลูกพืช และจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจ

๑๑. กิจกรรมเพาะชำ และขยายพันธุ์กล้าไม้ ดำเนินการดูแลรักษา และเพาะชำกล้าไม้ประเภทต่าง ๆ ได้แก่ พืชผัก ไม้หอม ไม้มงคล ไม้ประดับ และไม้ป่า และได้ทำการเพาะกล้ามะเขือเปราะ เพื่อปลูกซ่อมแซมในพื้นที่โครงการ และแจกให้กับเกษตรกร

๑๒. กิจกรรมประมงและพื้นที่สระน้ำ ดูแลรักษาปลาที่ปล่อยในสระน้ำ ได้แก่ ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสวาย ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห ปลาม้า ปลาเทโพ และปลากาดำ

๑๓. กิจกรรมการปลูกพืชสมุนไพร สาธิตการปลูกพืชสมุนไพร และไม้หอม ได้แก่ ว่านน้ำ รางจืดต้น ว่านตีนตะขาบ เสลดพังพอน ตะไคร้หอม รางจืดเถา หางไหลแดง พญาไร้ใบ มหาหงส์ ฟ้าทะลายโจร ลิ้นกระบือ หนุมานประสานกาย กำแพงเจ็ดชั้น กระทิง กันเกรา กฤษณา กรรณิการ์ ขลู่ อ้อยช้าง จำปา ดอกแก้ว นางแย้ม ปลาไหลเผือก ประคำดีควาย ฝาง เพชรสังฆาต พิกุล ประดู่บ้าน โมก มะขามป้อม มะดัน มะกา มะกอก แย้มปีนัง และปลูกไม้หอม เพิ่มเติม ได้แก่ ราตรีหอม กันเกราหอม พิกุลทอง บัวสวรรค์หอม หิรัญญิกาหอม การะเวกหอม หอมเจ็ดชั้น ปีปหอม นมแมวหอม พุดเศรษฐีหอม รสสุคนธ์ขาวหอม พร้อมทั้งศึกษาการใช้ประโยชน์

๑๔. กิจกรรมการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มีเกษตรกรเข้าศึกษาดูงานและเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ของโครงการ และได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

๑๕. กิจกรรมปรับปรุงสถานที่ ทำการปรับปรุงสภาพพื้นที่บริเวณโครงการ ฯ อาคารวิชาการ ศาลาที่ทำการ และเรือนเพาะชำ จัดบอร์ดนิทรรศการการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ รวมถึงตกแต่งพื้นที่ของโครงการให้ร่มรื่น สะอาด สำหรับเป็นที่พักผ่อน เป็นแหล่งหาความรู้ทางด้านการเกษตร

การดำเนินงานในระยะต่อไป : ในปี ๒๕๕๒ จะดำเนินแก้ไขปัญหาอุปสรรคในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโครงการและดำเนินการสำรวจความต้องการของตลาด เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาทดลองพันธุ์พืชต่างๆ พร้อมขยายผลการดำเนินงานไปสู่เกษตรกรในบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ด้านพันธุ์ ด้านการผลิต การแปรรูปผลผลิต ระบบปลูกพืช การปรับปรุงดินโดยเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และหญ้าแฝก รวมถึงการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ไปปฏิบัติในที่ดินของตนเอง เพื่อเพิ่มผลผลิต มูลค่าของผลผลิต และประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน ทำให้มีรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ต่อไป 

ในส่วนของกิจกรรมหลักจะได้ทดลองพันธุ์พืชต่างๆ พร้อมขยายผลการดำเนินงานไปสู่เกษตรกรในบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ด้านพันธุ์ ด้านการผลิต การแปรรูปผลผลิต ระบบปลูกพืช การปรับปรุงดินโดยเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และหญ้าแฝก รวมถึงการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ไปปฏิบัติในที่ดินของตนเอง เพื่อเพิ่มผลผลิต และประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน ทำให้มีรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการเกษตร