โครงการ เกษตรทฤษฎีใหม่ในบริเวณพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่วังแขม
ตำบล สระโบสถ์ อำเภอ สระโบสถ์ จังหวัด ลพบุรี
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
โครงการห้วยใหญ่วังแขม (เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ) เกิดขึ้นจากราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลมหาโพธิ์ ตำบลสระโบสถ์และตำบลใกล้เคียง อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดแคลนน้ำทำนา เนื่องจากฝายที่สร้างไว้เดิมชำรุด และอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถซ่อมแซมให้ดีได้ กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการก่อสร้างใหม่เป็นฝายถาวร (ฝายวังแขม) โดยเริ่มก่อสร้างในปี ๒๕๑๙ แล้วเสร็จปี ๒๕๒๐ ฝายวังแขมรับน้ำได้ดีในช่วงฤดูฝน แต่ในฤดูแล้ง น้ำจะน้อยมากไม่เพียงพอต่อความต้องการ นายนิยม วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณา เพื่อช่วยเหลือการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยนำโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่วังแขม ตำบลมหาโพธิ์ อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี เข้าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งสำนักงาน กปร. ได้สรุปข้อเท็จจริงว่า พื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตที่สาธารณประโยชน์และกรมชลประทานมีแผนงานก่อสร้างในปีงบประมาณ ๒๕๔๐-๒๕๔๒ ไว้แล้ว หากโครงการฯ ดังกล่าวแล้วเสร็จจะทำให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ทั้งนี้ สำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือที่ รล ๐๐๐๕/๕๑๐๒ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ถึงสำนักงาน กปร. สรุปได้ว่า ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชดำริว่าเป็นโครงการที่น่าสนับสนุน โดยมีข้อพิจารณาว่า
๑. ผู้ที่บุกรุกในเขตโครงการจะไม่ได้รับการชดเชย หรือเอกชนจะให้มีการชดเชยไม่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน
๒. ระบบต้องใช้ระบบของฝายก่อน
๓. ในพื้นที่ทำประโยชน์จะต้องส่งเสริมระบบทฤษฎีใหม่
๔. ในอนาคตต้องขยายพื้นที่รับประโยชน์
สำนักงาน กปร. ได้ประสานงานกับจังหวัดลพบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการสนองพระราชดำริ ทั้ง ๔ ประการ โดยได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผลการดำเนินงานได้ประสบความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง
การดำเนินงานโครงการ :
โครงการห้วยใหญ่วังแขมฯได้มีการประสาน การแต่งตั้งหน่วยงานและดำเนินกิจกรรมสนองพระราชดำริ มีความครบถ้วนสอดคล้องตามแนวพระราชดำริและสามารถดำเนินงานโครงการฯ ได้สำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง โดยแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่โครงการชลประทานห้วยใหญ่วังแขม ระดับจังหวัด จำนวน ๑๗ คน เช่น เกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี เกษตรจังหวัดลพบุรี ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี ประมงจังหวัดลพบุรี หัวหน้าโครงการชลประทานจังหวัดลพบุรี ฯลฯ โดยเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เป็นประธานกรรมการ หัวหน้าฝ่ายแผนงานพัฒนาการเกษตร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลพบุรี เป็นกรรมการและเลขานุการ และคณะทำงานโครงการฯระดับอำเภอ จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ปฏิบัติงาน จำนวน ๑๑ คน เช่น ผู้แทนสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี ผู้แทนสำนักงานประมงจังหวัดลพบุรี ผู้แทนโครงการชลประทานจังหวัดลพบุรี ฯลฯ โดยนายอำเภอ เป็นประธานคณะทำงาน เกษตรอำเภอสระโบสถ์เป็นคณะทำงานและเลขานุการ
๑) ในระยะแรกเป็นภารกิจในการซ่อมแซมฝายวังแขม ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและสามารถรับน้ำได้ดี
๒) ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่วังแขม มีความจุของอ่างฯ ที่ระดับเก็บกัก ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งในปี ๒๕๔๘ ได้เริ่มส่งน้ำให้พื้นที่ของเกษตรกรผ่านทางคลองธรรมชาติ (ห้วยใหญ่) และปล่อยน้ำลงมาตามลำห้วยใหญ่มายังฝายวังแขมเพื่อให้ราษฎรในเขตพื้นที่ตำบลสระโบสถ์ ตำบลมหาโพธิ์ และตำบลนิยมชัย ประมาณ ๗,๐๐๐ ไร่ ได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภค – บริโภค และทำเกษตรกรรมโดยการใช้น้ำจากระบบของฝายก่อนและก่อสร้างระบบส่งน้ำเป็นคลองดาดคอนกรีตฝั่งซ้าย-ขวา จำนวนทั้งสิ้น ๗ สาย รวมความยาว ๒๗.๑ กิโลเมตร ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๓ ซึ่งจะสามารถขยายพื้นที่รับประโยชน์ได้มากขึ้น ประมาณ ๒๓,๗๐๐ ไร่
๓) กิจกรรมส่งเสริมการทำเกษตรกรรมตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยการการขุดสระน้ำและการสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรในช่วงปี ๒๕๔๕-๒๕๔๗ จำนวน ๖๑ ราย
๔) ความก้าวหน้าในการดำเนินงานในช่วงปี ๒๕๔๘ - ปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นงานด้านการพัฒนาอาชีพเกษตร เป็นกิจกรรมที่ใช้แนว ทางในการดำเนินงานตามนโยบายและแผนงานของหน่วยงานต้นสังกัด และใช้งบประมาณปกติ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในลักษณะของการดำเนินกิจกรรมทั่ว ๆ ไปของอำเภอสระโบสถ์
ผลจากการพัฒนาแหล่งน้ำจากโครงการฯ ได้ส่งประโยชน์ให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรกรรมโดยมีการทำนาและทำไร่เป็นอาชีพหลักและอาชีพรอง ซึ่งมีรายได้สุทธิจากการเพาะปลูก เฉลี่ย ๙๑,๘๕๐ บาท/ครัวเรือน อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีแหล่งน้ำเพิ่มเติมก็ตามแต่เกษตรกรมีการเปลี่ยนแปลงด้านการเพาะปลูกไม่มากนักมีเพียงร้อยละ ๒๙.๖ (๓๔ ครัวเรือน) เท่านั้น จำแนกเป็นเกษตรกรจำนวน ๑๖ ครัวเรือน จากเดิมที่ทำนาปีอย่างเดียว ได้เปลี่ยนมาทำทั้งนาปีและนาปรัง ส่วนอีกจำนวน ๑๖ ครัวเรือน ได้เปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และจำนวน ๒ ครัวเรือนได้เปลี่ยนจากอ้อยมาปลูกข้าว
สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านผลผลิตนั้น เกษตรกรร้อยละ ๕๐.๙ มีความเห็นว่า ผลผลิตของพืชที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ได้แก่ ผลผลิตข้าวนาปี ก่อนปี ๒๕๔๘ จากเดิมเฉลี่ย ๔๔.๕ ถัง/ไร่ ภายหลังปี ๒๕๔๘ มีผลผลิตเฉลี่ย ๖๐.๗ ถัง/ไร่ พืชไร่ได้แก่ อ้อย ผลผลิตจากเดิมเฉลี่ย ๑๔.๒ ตัน/ไร่ ภายหลังปี ๒๕๔๘ มีผลผลิตเฉลี่ย ๑๗.๑ ตัน/ไร่ ส่วนการได้รับการส่งเสริมในการพัฒนาอาชีพทางการเกษตร ผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือ ครัวเรือนที่ได้รับการส่งเสริมให้ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมีเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรกรรมตามแนวทฤษฎีใหม่ ร้อยละ ๖.๐ ส่วนประชาชนรายอื่น ๆ ยังคงปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นหลัก ได้แก่ ข้าวมีร้อยละ ๗๓.๓ และพืชไร่ ร้อยละ ๓๗.๙ เนื่องจากผลผลิตมีราคาดี โดยข้าวมีราคาเกวียนละ ๑๒,๐๐๐ – ๑๒,๕๐๐ บาท อ้อยตันละ ๖๕๐ – ๘๕๐ บาท รวมทั้งมีตลาดมารับซื้อในหมู่บ้าน
การใช้น้ำจากสระ ประชาชนในเขตพื้นที่โครงการฯ เห็นความสำคัญและเข้าใจถึงประโยชน์ของการมีสระน้ำไว้ประจำไร่นา ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากสระในการทำกิจกรรมการเกษตรที่มีอยู่ในแปลง ได้แก่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ และปลูกผัก นอกนั้นเป็นการใช้น้ำจากสระในลักษณะของการทำเกษตรสมผสาน เป็นส่วนใหญ่
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการเกษตร