โครงการ แก้มลิง “คลองมหาชัย - คลองสนามชัย”อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอ เขตบางขุนเทียน จังหวัด กรุงเทพมหานคร
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
ตามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชมีพระราชดำริเกี่ยวกับแก้มลิง ความตอนหนึ่งว่า “ ...ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงก็จะรีบปอกเปลือก แล้วเอาเข้าปากเคี้ยวๆ แล้วเอาไปเก็บไว้ที่แก้ม ลิงจะกินกล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปไว้ที่แก้มก่อน แล้วจะนำมาเคี้ยวและกลืนกินเข้าไปภายหลัง ด้วยพฤติกรรมการนำเอากล้วยหรืออาหารมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนการกลืนกินนี้ จึงเป็นพฤติกรรมตัวอย่างที่จะนำมาใช้ในการระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังบริเวณด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา...”
เมื่อปี ๒๕๓๘ กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำชั่วคราว ปิดกั้นคลองต่างๆ จำนวน ๑๐ แห่ง แล้วเสร็จในปี ๒๕๓๙ เพื่อบริหารจัดการน้ำในคลองชายทะเลร่วมกับคลองมหาชัย ให้สอดคล้องกับระดับขึ้น-ลงของน้ำทะเล และต่อมาได้รื้อถอนประตูดังกล่าวเพื่อก่อสร้างประตูถาวรแล้วเสร็จแล้ว และปัจจุบันยังติดตั้งระบบอัตโนมัติที่ประตูเพื่อบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ประโยชน์ของโครงการ : เป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตก โดยสามารถบริหารน้ำได้กว่า ๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน
โครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-คลองมหาชัยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ๗๖.๔๒ ตร.กม.ใช้คลองต่างๆเป็นแก้มลิงในการกักเก็บน้ำมีความจุประมาณ ๖ ล้าน ลบ.ม. มีสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ จำนวน ๒๕ แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร จำนวน ๑๒ แห่ง ได้แก่
๑. สถานีสูบน้ำคลองขุนราชพินิจใจ กำลังสูบ ๓๐ ลบ.ม./วินาที
๒. สถานีสูบน้ำคลองลูกวัว กำลังสูบ ๖ ลบ.ม./วินาที
๓. สถานีสูบน้ำคลองเชิงตาแพ กำลังสูบ ๒ ลบ.ม./วินาที
และประตูระบายน้ำจำนวน ๘ แห่ง ได้แก่
๑. ปตร.คลองหัวกระบือ
๒. ปตร.คลองรางยายคง
๓. ปตร.คลองรางยายเพียร
๔. ปตร.คลองแยกคลองเชิงตาแพ
๕. ปตร.คลองรางโพธิ์
๖. ปตร.คลองบุญสุข
๗. ปตร.คลองรางสะแก
๘. ปตร.คลองนา
และอยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัดสมุทรสาครจำนวน ๑๐ แห่ง และกรมโยธาธิการและ ผังเมือง จังหวัดสมุทรปราการจำนวน ๓ แห่ง ทั้งนี้ โครงการแก้มลิงดังกล่าวมีคณะกรรมการ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ และประชาชนในพื้นที่ เป็นกรรมการซึ่งเป็นการบริหารรูปแบบใหม่ ของสำนักการระบายน้ำ ที่ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนต่างๆ การประเมินสถานการณ์น้ำ ตลอดจนการแจ้งเตือนภัย ซึ่งประโยชน์ทั้งหมดจะเกิดแก่ประชาชนโดยรวม และสำนักการระบายน้ำจะขยายผลเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับโครงการต่างๆ ในอนาคต
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ