๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสัก

จังหวัด เพชรบูรณ์


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชได้พระราชทานพระราชดำริกับ นายกรัฐมนตรี สรุปความว่า มีพระราชประสงค์ให้เขื่อนป่าสักเก็บกักน้ำได้มากกว่านี้ เพราะต่อไปน้ำอาจจะไม่พอ ความจุของเขื่อนที่เพิ่มขึ้นนี้หมายความว่า ควรก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดักน้ำไว้ แต่อ่างต้องไม่ใหญ่มาก อาจจะสัก ๒ – ๓ แห่ง เพื่อจะได้ Break น้ำไว้แล้วค่อย ๆ ทยอยปล่อยมา ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๘ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมกับนายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีตองคมนตรี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เลขาธิการ กปร. และนายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ และนายสมพล พันธุ์มณี รองเลขาธิการ กปร. ในขณะนั้น สรุปความว่า ให้พิจารณาเก็บกักน้ำตอนบนของลำน้ำสาขาลำน้ำป่าสักไว้ให้มากเพื่อใช้ด้านการเกษตรและป้องกันอุทกภัย เนื่องจากน้ำเหนือเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณมากและให้พิจารณาจัดเก็บให้เหมาะสม เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรมให้แก่ราษฎรในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง

ผลการดำเนินการ : ดำเนินการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยน้ำก้อ ลุ่มน้ำห้วยใหญ่ ลุ่มน้ำห้วยป่าเลา ลุ่มน้ำห้วยนา ลุ่มน้ำคลองลำกง และลุ่มน้ำห้วยเล็ง โดยแต่ละพื้นที่ดำเนินกิจกรรมปรับปรุงระบบนิเวศต้นน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ กิจกรรมเพาะชำกล้าไม้ พร้อมด้วยการจัดทำฝายชะลอความชุ่มชื้นแบบผสมผสาน แบบกึ่งถาวร และแบบถาวร รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมการรักษาป่าและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และการจัดการอบรมเยาวชนและราษฎร เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าไม้ 

ประโยชน์ที่ที่ได้รับ/ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ : สามารถฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญที่จะทำให้ระบบนิเวศเกิดความอุดมสมบูรณ์ครอบคลุมพื้นที่ ๖๒ หมู่บ้าน ๖ พื้นที่ลุ่มน้ำของจังหวัดเพชรบูรณ์ และยังช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินและการไหลบ่าของตะกอนลงสู่ลำน้ำ พร้อมกับสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างการมีส่วนร่วมของราษฎรในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่น 

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม