โครงการ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริเวณทุ่งภูเขาทอง
ตำบล ภูเขาทอง อำเภอ พระนครศรีอยุธยา จังหวัด พระนครศรีอยุธยา
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
เมื่อวันอังคารที่ ๔ เมษายน ๒๕๓๘ ภายหลังที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระสุริโยทัย ณ สถานที่ก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย บริเวณทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ โดยได้ทรงมีพระราชเสาวนีย์กับรองเลขาธิการพระราชวัง (นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา) และผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่าสมควรจะได้มีการพิจารณาก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้น ณ บริเวณทุ่งภูเขาทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และอยู่ในเขตพื้นที่ต่อเนื่องกับทุ่งมะขามหย่อง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้มีการก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยไว้เรียบร้อยแล้ว
กระทรวงมหาดไทยเมื่อได้น้อมเกล้าฯ รับพระราชทานกระแสพระราชเสาวนีย์แล้ว จึงได้ประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ บริเวณทุ่งภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวงเงินงบประมาณ ๖๕๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยใช้งบประมาณการก่อสร้างของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๘ เห็นชอบในหลักการฯตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำรายละเอียดโครงการและวงเงินงบประมาณรายจ่ายเสนอสำนักงาน กปร. และ สำนักงานงบประมาณพิจารณา ทั้งนี้ให้สำนักงาน กปร. กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทรงทราบและขอพระราชทานพระราชดำริในเรื่องนี้
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
๑. เพื่อเทิดพระเกียรติและเป็นอนุสรณ์สถานแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
๒. เพื่อเฉลิมฉลองพระราชพิธิกาญจนาภิเษกและการจัดฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีในปี ๒๕๓๙
๓. เพื่ออนุรักษ์บริเวณประวัติศาสตร์และโบราณสถาน
๔. เพื่อเป็นจุดท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ลักษณะโครงการ :
๑. เป็นอนุสรณ์สถานรวบรวมพระวีรกรรมขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
๒. เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่สำรองไว้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค
๓. พัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นบริเวณพักผ่อนสาธารณะสำหรับชาวเมืองอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง โดยการปลูกสวนป่าให้มีปริมาณมากที่สุดเท่าที่พื้นที่อำนวย
สถานที่
คณะกรรมการดำเนินงานจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีความเห็นว่า สถานที่ก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ บริเวณทุ่งภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา ตามเหตุผลหลัก ๕ ประการ คือ
๑. ด้านประวัติศาสตร์ มีความสอดคล้องกับพระราชประวัติ และพระมหาวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กล่าวคือ เป็นบริเวณที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงทำศึกเพื่อป้องกันมิให้พม่าเข้าถึงบริเวณเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา กอบกับอยู่ในเขตพื้นที่ต่อเนื่องกับทุ่งมะขามหย่อง ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพระมหาวีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัย
๒. ด้านผังเมืองและการคมนาคม เป็นจุดที่มีทางหลวงแผ่นดินสายอยุธยา – ป่าโมก ผ่านด้านหน้าพื้นที่ และอยู่ใกล้กับโครงการตัดถนนทางหลวงสายบางปะอิน – บางปะหัน ของกรมทางหลวง
๓. สภาพพื้นที่ที่ใช้ตั้งโครงการ สภาพโดยทั่วไปเป็นทุ่งนาโล่ง ไม่มีอาคารสูงที่จะบดบังทัศนียภาพพระบรมราชานุสาวรีย์
๔. ด้านสิ่งแวดล้อมทั่วไป อยู่ใกล้แหล่งโบราณสถาน คือ วัดภูเขาทอง สามารถปรับปรุงสภาพเพื่อใช้เป็นที่ท่องเที่ยว มีการคมนาคมที่เข้าถึงสะดวก และอยู่ห่างย่านธุรกิจแออัด
๕. ด้านค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ลุ่มและมีคลองซึ่งต่อเนื่องได้จากแม่น้ำเจ้าพระยา สะดวกที่จะปรับปรุงเป็นอ่างเก็บน้ำที่ควบคุมระดับน้ำได้ และสามารถใช้ดินในบริเวณเพื่อปรับแต่งพื้นที่ได้บางส่วน
พื้นที่ โครงการครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๘๕๐ ไร่ โดยแบ่งลักษณะการครอบครองเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ส่วนที่ต้องจัดซื้อประมาณ ๔๘๘ ไร่ เป็นที่ดินเอกชน ๗๖ ราย (สามารถดูรายละเอียดจากรายงานของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
๒. ส่วนที่เป็นพื้นที่ในโครงการนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา คือ บริเวณเจดีย์ภูเขาทองประมาณ ๕๐ ไร่ บริเวณวัดโคกพระยาประมาณ ๔๐ ไร่
๓. ส่วนที่จะดำเนินการให้ควบคุมด้วยกฎกระทรวงหรือพระราชบัญญัติผังเมือง มิให้อาคารสูงและสิ่งก่อสร้างที่ทำลายสภาพแวดล้อม ประมาณ ๓๗๐ ไร่
ระยะเวลาในการจัดสร้าง
๓ ปี ในระหว่างปีงบประมาณ ๒๕๓๙ – ๒๕๔๑
แนวความคิดในการออกแบบ :
๑. ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้อยู่ในบริเวณใกล้กับพระเจดีย์ภูเขาทอง และวัดโคกพระยาเพื่อเชื่อมโยงสิ่งก่อสร้างหลักเข้ากับโบราณสถานที่มีอยู่เดิมในบริเวณ
๒. บริเวณอ่างเก็บน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้ในการเกษตร ใช้พื้นที่ประมาณ ๒๒๕ ไร่โดยรอบจะใช้ประโยชน์เป็นที่นั่งพักผ่อนของประชาชนด้วย จึงจะปลูกต้นไม้ใหญ่เป็นกลุ่มๆในบางจุด โดยเน้นให้ร่มครึ้มเป็นป่าเฉพาะด้านหลัง ส่วนด้านหน้าปลูกต้นไม้สลับที่โล่ง เพื่อให้ผู้สัญจรบนถนนผ่านไปมาได้พักผ่อนสายตา นอกจากนี้จะมีศาลาท่าน้ำในบางตำแหน่งด้วย ในอ่างเก็บน้ำนี้สามารถเพิ่มเติมให้เลี้ยงปลา หรือ มีน้ำพุได้
๓. บริเวณสวนป่า นอกจากเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง ก็ให้เป็นบริเวณพักผ่อนของประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วย โดยปรับปรุงคลองมหานาคที่มีอยู่เดิมให้มีสภาพดี และจัดสร้างทางวิ่งออกกำลังขนาบข้างคลองไปในความร่มรื่นของต้นไม้
๔. การอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้มาใช้สอย จัดให้มีลานจอดรถอยู่ทางฝั่งวัดโคกพระยาในระยะห่างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ประมาณไม่เกิน ๒๐๐ เมตร นอกจากนี้ในบริเวณจะจัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่น ม้านั่ง ถังขยะ ก๊อกน้ำ ฯลฯ ทั่วไปเป็นระยะ
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ และโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ