โครงการ ก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย
๒๕๖ ไร่ ตำบล บ้านใหม่ อำเภอ พระนครศรีอยุธยา จังหวัด พระนครศรีอยุธยา
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๔
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระราชทานพระราชดำริ ณ วังไกลกังวล ให้การก่อสร้างโครงการพระราชานุสาวรีย์ฯ มีการใช้น้ำที่เก็บในสระเก็บน้ำจำนวนมากเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งของราษฎร ที่มีพื้นที่อยู่รอบบริเวณพระราชานุสาวรีย์ฯ
วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๘
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีพระราชกระแสให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาปล่อยน้ำเข้าพื้นที่ของพระราชานุสาวรีย์ฯ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรที่ถูกน้ำท่วม และเพื่อเป็นการเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งอีกทางหนึ่งด้วย และนำที่ได้เก็บกักไว้ในสระ
เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ตามแนวพระราชดำริด้านการเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง โดยส่งเสริมอาชีพเสริมแก่ราษฎร ๔ โครงการ คือ โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวนาปรัง โครงการปลูกพืชอายุสั้นและไม้ผล โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลา และโครงการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน
วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๘
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาปรับปรุงบริเวณพื้นที่โครงการให้สามารถเก็บน้ำได้มากขึ้นเป็น ๒๐๐ ไร่ เหลือเป็นพื้นที่พระราชานุสาวรีย์ไว้ ๕๐ ไร่ และยกระดับถนนในพื้นที่ขึ้นด้วย
วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระราชทานพระราชดำรัสกับบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สรุปความได้ว่า
...ในที่สุด ปีนี้น้ำก็ท่วมและเกิดระลึกขึ้นมาได้ว่ามีโครงการนี้อยู่...จึงให้คนไปถ่ายรูป มีหลายฝ่ายทั้งทางภาคพื้นดิน ทั้งทางอากาศ ในรูปได้เห็นว่ามีการสูบน้ำ ปลายหนึ่งของท่อจุ่มอยู่ในสระ และดูดน้ำออกจากสระ น้ำในสระนั้นมีระดับวัดได้ ๓ เมตร ๕๐ เซนติเมตร แต่เมื่อดูแล้วข้างนอก น้ำขึ้นสูงไปมากกว่านั้น จึงบอกให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งหยุดสูบน้ำออกไปและถ้าอย่างไรให้เปิดประตูน้ำที่เป็นท่อ และช่องที่เปิดน้ำให้เข้า-ออกได้ ให้น้ำเข้ามา น้ำก็ค่อยๆ เข้ามาเอื่อยๆ น้ำจึงขึ้นมาหน่อย แต่ว่าเข้ามาช้ามาก... ก็เลยบอกว่า ให้ฟันคัน ให้ใช้รถตักที่เขาเรียกว่าแบ็คโฮตักคันที่กั้นน้ำนั้นให้น้ำเข้ามา...และในเวลาเดียวกันก็วัดระดับน้ำ ปรากฏว่าระดับน้ำทางด้านตะวันออกคือ น้ำที่มาจากแม่น้ำป่าสักสูงกว่าด้านที่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ความรู้นี้ ไม่มีใครเคยรู้ว่า น้ำที่อยู่ในทุ่งด้านป่าสักมีความสูงกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา และความรู้นี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ รวมทั้งกรมชลประทานเกิดความรู้ว่า น้ำท่วมกรุงเทพฯ มาจากไหน และไปไหน...
...ก็บอกให้ทำต่อไปจนกระทั่งน้ำข้างนอกกับน้ำข้างในเท่ากัน และวัดดูโดยต่อจากมาตรวัดน้ำ ซึ่งทีแรกสูง ๔ เมตร ต่อขึ้นมา ๕ เมตร ก็ท่วม ๕ เมตร จนกระทั่งขึ้นมาถึง ๕ เมตร ๗๐ เซนติเมตร เป็นอันว่าน้ำที่เข้ามาในบริเวณนั้นจากเดิม ๓ เมตร ๕๐ เซนติเมตร ขึ้นมาเป็น ๕ เมตร ๗๐ เซนติเมตร และน้ำในสระนั้นแทนที่จะมีประมาณห้าแสน ก็ขึ้นมาเกือบสองล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อถึงขนาดนั้นแล้ว จึงสั่งให้ปิดได้ ให้ปิดเพื่อที่จะเก็บน้ำนี้ไว้ข้างใน ...ทำให้ราษฎรเห็นว่าอนุสาวรีย์นี้ทำประโยชน์ และสมเด็จพระสุริโยทัย นี้เป็นวีรสตรีในอดีต กลับมาเป็นวีรสตรีในปัจจุบันด้วย ฉะนั้นโครงการนี้ก็ได้ผลเต็มที่...
...ทฤษฎีใหม่นี่มีไว้สำหรับป้องกันความขาดแคลน ในยามปกติก็จะทำให้ร่ำรวยมากขึ้น ในยามที่มีอุทกภัยก็สามารถที่จะฟื้นตัวได้เร็ว โดยไม่ต้องให้ทางราชการไปช่วยมากเกินไปทำให้ประชาชนมีโอกาสพึ่งตนเองได้อย่างดี ฉะนั้นจึงได้สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่...
วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๓๙
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย เพื่อทรงเยี่ยมเกษตรกร และทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการดำเนินงานการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่รอบพระราชานุสาวรีย์ ในการนี้ ทรงเปิดคันบังคับน้ำ เพื่อปล่อยน้ำเข้าสู่ท่อส่งน้ำที่ ๒ เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรของราษฎรที่อาศัยอยู่โดยรอบ และทรงมีพระราชดำริในเรื่องต่างๆกับคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการประกอบอาชีพของราษฎร โดยพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการพิจารณานำทฤษฎีใหม่มาใช้งานโดยให้ขุดสระน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตโครงการและบริเวณใกล้เคียง เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในฤดูฝน และพิจารณาเพิ่มระดับเก็บกัก รวมทั้งให้ขุดลอกสระเก็บน้ำให้ลึกลงไปตามความเหมาะสม เพื่อเพิ่มปริมาณความจุให้สระเก็บน้ำ
วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๙
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย เพื่อทรงเกี่ยวข้าวในนาซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพปลูกข้าวนาปรัง และพระราชทานข้าวที่ทรงเกี่ยวเพื่อไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในการนี้ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน กรมโยธาธิการ และกรมพัฒนาที่ดิน ปรับปรุงสระเก็บน้ำพระราชานุสาวรีย์ฯ โดยขุดดินก้นสระให้มีความลึกโดยเฉลี่ยอีกประมาณ ๑ เมตร เพื่อกักเก็บน้ำให้มากกว่าเดิม ดินที่ขุดได้ส่วนหนึ่งให้นำไปทำทางสัญจรด้านทิศเหนือขนานไปกับคันกั้นน้ำ ให้ประชาชนใช้เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างถนนริมแม่น้ำกับถนนสายใหญ่ ดินอีกส่วนหนึ่งให้นำไปทำถนนเสริมคันกั้นน้ำเดิมให้สูงถึงระดับ ๖.๒๐ เมตร (รทก.) หากมีน้ำไหลหลากมากเหมือนปี ๒๕๓๘ จะได้ระบายน้ำเข้ามาในสระเก็บน้ำ น้ำจะได้ไม่ท่วมหลังคันกั้นน้ำ ซึ่งจะทำให้มีน้ำเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งเพิ่มมากขึ้น
การดำเนินงานสนองพระราชดำริ หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันสนองพระราชดำริ ดังนี้
ปี ๒๕๔๐-๒๕๔๑
๒.๑ ดำเนินการขุดลอกสระเก็บน้ำให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นจจากเดิม ๑,๐๘๐,๐๐๐ ลบ.ม. เป็น ๑,๒๐๐,๐๐๐ ลบ.ม
๒.๒ กรมป่าไม้ ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ ปลูกต้นไม้เพื่อการใช้สอย เช่น ไผ่สีสุก ยูคาลิปตัส เพื่อใช้เผาถ่าน และปลูกแฝก ๓ แถวรอบสระเก็บน้ำ
๒.๓ กรมชลประทาน จัดทำบ่อเล็กในสระใหญ่พร้อมติดตั้งระบบสูบน้ำ เพื่อให้สามารถส่งน้ำออกจากสระให้ได้มากที่สุด พร้อมดำเนินการปรับปรุงระบบสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสระเก็บน้ำ
๒.๔ การไฟฟ้าได้ทำการปรับปรุงระบบไฟฟ้าภายใน และระบบไฟฟ้าของระบบสูบน้ำ
๒.๕ จัดทำถนนเชื่อมระหว่างคันคลองชลประทานกับถนนสายบางปะอิน-บางปะหัน เพื่อให้ราษฎรใช้สัญจรไปมา (ที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นผู้จัดซื้อ)
การส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎร
๑) ส่งเสริมการทำนาปรัง พื้นที่ ๕๐๔ ไร่
๒) ส่งเสริมการปลูกไม้ผล(มะม่วง, กระื้ท้อน, ขนุน) ๓๓ ราย
๓) ส่งเสริมการปลูกพืชอายุสั้นเพื่อลดความเสี่ยงหากเกิดน้ำท่วม
๔) ส่งเสริมการปลูกผัก ๙ ราย
๕) ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำ (ปลายี่สก, ปลาตะเพียน) ๑๘ ราย
๖) ส่งเสริมด้านปศสัตว์ (ไก่, เป็ด, สุกร) ๓๐ ราย
การขยายผลทฤษฎ๊ใหม่ ทำการคัดเลือกเกษตรกร ๑ ราย ซึ่งอยู่บริเวณโครงการ ได้แก่ นายทองดี นิลมงคล ซึ่งต้องการทำตามแนวทฤษฏีใหม่ในพื้นที่ของตนเอง
๓. ลักษณะของโครงการ
โครงการพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย มีพื้นที่โดยรวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๕๖ ไร่ ประกอบด้วยองค์ประกอบ ๒ ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ ๑ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย สวนสาธารณะ และอื่นๆ มีพื้นที่ประมาณ ๕๖ ไร่ ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้
- องค์พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยทรงช้าง ประดิษฐานบนเกาะเนินดิน พื้นที่ประมาณ ๒๔ ไร่
- อาคารประกอบอื่นๆในบริเวณ เช่น อาคารจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตรและอุตสาหกรรมในครัวเรือน ส่วนแสดงแผนผังบริเวณ และอาคารบำรุงรักษา ระบายน้ำและบ้านพักเจ้าหน้าที่
ส่วนที่ ๒ พื้นที่สระเก็บน้ำ มีพื้นที่ประมาณ ๒๐๐ ไร่ สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง และรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก
- พื้นที่ผิวน้ำที่ระดับเก็บกัก ๑๕๘ ไร่
- ปริมาณความจุที่ระดับเก็บกัก ๑,๒๐๙,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร
- ระดับคันกั้นน้ำ + ๖.๒๐ เมตร (รทก.)
- ระดับเก็บกักปกติ + ๔.๕๐ เมตร (รทก.)
- ระดับเก็บกักสูงสุด + ๕.๗๖๐ เมตร (รทก.)
(ในปี ๒๕๓๘ เกิดปัญหาอุทกภัยสามารถกักเก็บน้ำได้ ๑,๕๘๓,๐๔๐ ลูกบาศก์เมตร)
- ปริมาณน้ำเก็บกักที่สามารถ ๕๐๐,๐๐๐ ลูกบาศ์กเมตร นำมาใช้ประโยชน์โดยวิธีการธรรมชาติ
๔. พื้นที่รับประโยชน์ สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร(นาปรัง) ได้ ๕๐๔ ไร่ จำนวน ๒ ครั้งต่อปี และช่วยให้ราษฎรสามารถทำการเกษตรอื่นๆได้ตลอดฤดูกาล
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ และโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ