๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

โครงการ ศูนย์สาธิตและพัฒนาพลังงานทดแทนจากข้าวครบวงจร

ตำบล ลาดบัวหลวง อำเภอ ลาดบัวหลวง จังหวัด พระนครศรีอยุธยา


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับกระทรวงพลังงาน และเครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินการโครงการศูนย์สาธิตและพัฒนาพลังงานทดแทนจากข้าวครบวงจร ในบริเวณพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลลาดบัวหลวง อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยจัดตั้งระบบโรงสีข้าวชุมชน เพื่อรองรับกิจกรรมการส่งเสริมการผลิตข้าวแบบลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ในพื้นที่สาธิตการทำนาของมูลนิธิชัยพัฒนา รวมทั้ง เป็นตัวอย่างพร้อมถ่ายทอดความรู้ในการแปรรูปข้าว และการบริหารจัดการธุรกิจข้าวของชุมชนอย่างเป็นระบบ การเพิ่มมูลค่าผลผลิต และการนำวัสดุเหลือใช้ เช่น แกลบจากโรงสีข้าวไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า และการผลิตน้ำมันรำ เป็นต้น

การดำเนินงาน : สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จัดทำแผนการดำเนินงานโครงการศูนย์สาธิตและพัฒนาพลังงานทดแทนจากข้าวครบวงจร (การผลิตข้าวครบวงจร) ให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ในระยะแรกทำการสีข้าวเปลือกวันละ ๒ ตันเพื่อนำข้าวที่ผลิตได้ทั้งข้าวสารและข้าวกล้องบรรจุถุงจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไปภายใต้ตราสินค้า “ภัทรพัฒน์” โดยมีข้าวส่งขายประมาณเดือนละ ๒๐,๐๐๐ กิโลกรัม ซึ่งการดำเนินงานสามารถเข้าสู่จุดคุ้มทุนภายในระยะเวลา ๕ ปี เริ่มดำเนินการเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓ 

โครงการดังกล่าวได้มีการติดตั้งเครื่องจักรต่าง ๆ ประกอบด้วย จุดรับข้าวเปลือก ไซโล โรงสีข้าวชุมชน CP-R ๑๐๐๐ เครื่องผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล (Gasifier) พร้อมตัวอาคารประกอบ โดยมอบหมายให้ บริษัท เกรท อะโกร จำกัด กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด

โครงการศูนย์สาธิตและพัฒนาพลังงานทดแทนจากข้าวครบวงจร ประกอบด้วย โรงสีข้าว CP-R ๑๐๐๐ ที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ถวาย เครื่องอบลดความชื้นข้าวเปลือก เครื่องผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล (Gasifier) และเครื่องหีบน้ำมันรำ ที่กระทรวงพลังงานเป็นผู้ถวาย

ประโยชน์ที่ได้จากโครงการ :

๑. สามารถรองรับข้าวเปลือกในบริเวณพื้นที่อำเภอลาดบัวหลวง และในเขตอำเภอใกล้เคียงของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอต่าง ๆของจังหวัดใกล้เคียง เข้าสู่โรงสีได้ไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ไร่ สามารถสีแปรรูปข้าวได้วันละ ๒๔ ตัน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ๒๐๐ กิโลวัตต์ชั่วโมง

๒. สามารถนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากท้องนา เช่น แกลบ ฟาง และตอซังข้าว มาแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้รำข้าวสามารถนำไปสกัดเป็นน้ำมันรำ กากรำจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์ และขี้เถ้าสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน ซึ่งเป็นการช่วยลดพลังงาน และสามารถใช้พลังงานจากข้าวได้อย่างครบวงจร

๓. นำพลังงานจากก๊าซชีวมวลที่ได้จากแกลบจากโรงสีข้าวมาใช้แทนการนำพลังงานจากภายนอก สามารถผลิตพลังงานทดแทนที่ได้จากแกลบมาใช้ในโครงการ ทั้งยังสามารถนำพลังงานไฟฟ้าที่ได้ไปจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการเกษตร