๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

โครงการ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานตำบลสามพรานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

๑,๖๒๕ ไร่ ตำบล สามพราน อำเภอ สามพราน จังหวัด นครปฐม


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานตำบลสามพราน ซึ่งประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดปากคลองสายหลัก จำนวน ๙ สายและปรับปรุงคันกั้นน้ำเพิ่มเติมบางช่วงตามความเหมาะสมไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลสามพราน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้มีหนังสือขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานบริเวณตำบลสามพราน เพื่อช่วยเหลือราษฎรซึ่งประสบความเดือดร้อน เนื่องจากน้ำท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร

วัตถุประสงค์ของโครงการ : เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎร ในเขตตำบลสามพรานและตำบลใกล้เคียง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม  

เพื่อให้ราษฎรตำบลสามพรานและตำบลใกล้เคียงมีน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในห้วงฤดูแล้งได้อย่างพอเพียงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่นคงทั้งความเป็นอยู่และการประกอบสัมมาอาชีพรวมทั้งยกระดับรายได้และผลผลิตให้ดีขึ้น

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานตำบลสามพรานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดปากคลองสายหลักไปแล้ว จำนวน ๖ แห่ง ได้แก่ อาคารบังคับน้ำคลองเจ้าพ่อ ม.๙ อาคารบังคับน้ำคลองหน้าวัดบางช้างใต้ ม.๕ อาคารบังคับน้ำคลองบ้านนายสกล ม.๕ อาคารบังคับน้ำคลองผู้ใหญ่อิ้น ม.๓ อาคารบังคับน้ำคลองหลังบ้านครูโนรี ม.๕ และอาคารบังคับน้ำคลองผู้ใหญ่เชี้ยง ม.๓ สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรไม่ให้ถูกน้ำท่วม ๑,๖๒๕ ไร่บ้านเรือนอยู่อาศัย ๑,๓๕๙ ครัวเรือน ประชากร ๓,๔๙๑ คน สำหรับในปีงบประมาณ ๒๕๕๖ ได้จัดทำแผนงาน/งบประมาณดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดปากคลองสายหลักเพิ่มอีก จำนวน ๓ แห่ง ซึ่งจะทำให้สามารถปิดปากคลองสายหลักได้ครอบคลุมพื้นที่โครงการครบจำนวน ๙ สาย และส่วนลำคลองย่อยต่างๆ ทางเทศบาลสามพรานจะเป็นผู้ดำเนินการเอง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากแม่น้ำท่าจีนไหลเข้าคลอง เข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม และในช่วงแม่น้ำท่าจีนอยู่ในระดับปกติ ก็สามารถเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์จากน้ำในคลองและใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางเรือ เพื่อช่วยเหลือการเพาะปลูกของราษฎรในพื้นที่และช่วยบรรเทาอุทกภัยที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยส่วนใหญ่ราษฎรประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ ไม้ผลและไม้ประดับเป็นหลัก และพืชไร่

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ