โครงการ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ
จังหวัด นครนายก
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
มูลนิธิชัยพัฒนา ได้จัดซื้อที่ดินจำนวน ๒ แปลง รวมเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๒ งาน ๑๘ ตารางวา ราคา ๒,๕๒๐,๗๑๖ บาท (สองล้านห้าแสนสองหมื่นเจ็ดร้อยสิบหกบาทถ้วน) โอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๒ ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๙ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติ ให้จัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมด้านหลัง จำนวน ๓.๕ ไร่
พระราชดำริ : เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๕ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ดำเนินการจัดทำศูนย์นิทรรศการแสดงแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาของพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และพระราชทานชื่อโครงการว่า “ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ”
เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้ไปตรวจสอบที่ดินของสภากาชาดไทย จำนวน ๒ แปลง ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับโครงการ เพื่อใช้จัดสร้างหอพักและศูนย์ฝึกอบรม ต่อมา เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ พระราชดำเนินไปทอดพระเนตรบริเวณพื้นที่ ที่จะจัดซื้อเพิ่มเติมบริเวณด้านหลังโครงการ และมีพระราชกระแส ดังนี้
๑. ให้อนุรักษ์พื้นที่ที่จะจัดซื้อไว้ โดยไม่ให้ตัดต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้เดิมในพื้นที่
๒. สำหรับพื้นที่ว่างเปล่าอื่นๆ ที่สามารถปลูกพืชได้ ให้ปลูกเพิ่มเติม โดยพัฒนาเป็น Food Bank หรือ Supermarket ของโครงการ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชุมชนต่อไป
๓. สำหรับการจัดสร้างหอพักของโครงการ ให้ประสานกับสภากาชาดไทย ในการจัดสร้างศูนย์ฝึกอบรมขึ้นในที่ดินของสภากาชาดไทย ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงโครงการ
หน่วยงานรับผิดชอบ : สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
ผลการดำเนินงาน :
๑. ดำเนินการปรับปรุงสภาพพื้นที่โครงการเพื่อรวบรวม และจัดแสดงแนวคิด และทฤษฏีการพัฒนาด้านต่างๆ ตามแนวพระราชดำริ โดยแบ่งพื้นที่ ๒ ส่วน ได้แก่
- อาคารพิพิธภัณฑ์ระบบแสง สี เสียง
- พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต โดยจำลองแนวทางการพัฒนาตามแนวพระราชดำริต่างๆ มาจัดแสดงให้เห็นจริงในพื้นที่ด้านนอก และจัดตั้งเป็นภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมทั้งยังมีฐานงาน เพื่อใช้ฝึกปฏิบัติสำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรม ได้แก่ การเตรียมแปลงผัก นาข้าว เตาถ่าน อิฐประสาน บ้านดิน และธนาคารต้นไม้ เป็นต้น
๒. จัดการฝึกอบรมหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง และเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สำหรับให้ผู้สนใจเข้าศึกษาดูงานในพื้นที่โครงการ โดยในปี ๒๕๕๓ มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม ๑,๗๑๖ คน และมีผู้เข้ามาศึกษาดูงานทั้งสิ้น ๔๓,๘๐๗ คน
การดำเนินงานในระยะต่อไป :
๑. ดำเนินการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ของโครงการ ให้มีความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้นและจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อจัดสร้างและปรับปรุงนิทรรศการภายนอกอาคารให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
๒. ขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ โดยการให้คำแนะนำด้านวิชาการให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงให้สามารถแก้ไขปัญหาการดำเนินงาน เพิ่มศักยภาพการผลิต และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม