โครงการ แก้ไขปัญหาช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานฯ
2,900 ตารางกิโลเมตร จังหวัด เพชรบุรี
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๕ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำรัสกับ พลเอก นพดล วรรธโนทัย ณ พระตำหนักจิตรลดา ความว่า “...ช้างเป็นสัตว์ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงรัก ทรงห่วงใย โดยเฉพาะช้างทางกุยบุรี และแก่งกระจาน ทรงห่วงใยมาตลอด ทรงช่วยหาที่อยู่ ที่กินให้ช้าง จะได้ไม่รบกวนคน คนกับช้างจะได้มีปัญหากันน้อยที่สุด เช่น ที่กุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ช้างมีความสำคัญมาแต่ครั้งประวัติศาสตร์ เคยช่วยรักษาบ้านเมือง กู้บ้านกู้เมือง ดังนั้น ขอให้ช่วยกันดูแลมิให้ช้างถูกฆ่าอย่างทารุณเยี่ยงนี้ เพื่อจะได้ไม่ผิดพระราชประสงค์ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงตั้งพระทัย ที่จะให้มีการอนุรักษ์ช้าง ให้เป็นสัตว์คู่แผ่นดินสืบไป...”
เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนีย์กับ ท่านผู้หญิงฉัตรแก้ว นันทาภิวัฒน์ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ และพลเอก นพดล วรรธโนทัย ณ พระตำหนักจิตรลดา ความว่า “...ขอให้ร่วมมือกับ แม่ทัพภาคที่ ๑ และ ดร.ธวัชชัย สันติสุข ดำเนินการ เรื่อง การปลูกพืชอาหารช้าง การปลูกต้นไม้ให้เป็นป่า มีที่อยู่ที่กินของช้างที่แก่งกระจาน เช่นเดียวกับที่กุยบุรี...”
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
๑. เพื่อเพิ่มแหล่งอาหารและแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของช้างและสัตว์ป่า
๒. เพื่อป้องกันช้างป่าบุกรุกทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎร
๓. เพื่อให้ช้างป่ามีที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร โดยไม่ถูกทำร้ายจากราษฎรในพื้นที่
๔. เพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างช้างป่ากับราษฎรในพื้นที่
๕. สร้างจิตสำนึกให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ช้างป่าและสัตว์ป่ามิให้สูญพันธุ์
ประโยชน์ของโครงการ :
๑. สามารถเพิ่มแหล่งอาหารและแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของช้างและสัตว์ป่า
๒. เพิ่มพื้นที่ป่าแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารให้แก่ช้างป่า ทำให้ช้างป่าไม่ต้องออกจากป่ามาบุกรุกทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎร เป็นการป้องกันช้างป่าถูกทำร้ายโดยราษฎรในพื้นที่
๓. แก้ไขปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างช้างป่ากับราษฎรในพื้นที่
๔. เพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติให้สัตว์ป่าได้อาศัย ไม่ต้องอพยพออกจากพื้นที่และรักษาแหล่งต้นน้ำลำธาร
๕. เป็นการสร้างจิตสำนึกให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ช้างและสัตว์ป่า ร่วมกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๖. ช่วยสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่ เพื่อลดการพึ่งพิงป่า
ผลการดำเนินงาน : จัดทำโป่งเทียม จัดทำฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน (แบบคอกหมู) และขุดลอกปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติเดิม
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม