๐๒ มกราคม ๒๕๖๘

โครงการ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

๒,๙๐๐ ตารางกิโลเมตร จังหวัด เพชรบุรี


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๕ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงมีพระราชดำรัสกับ พลเอก นพดล วรรธโนทัย ณ พระตำหนักจิตรลดา ความว่า “...ช้างเป็นสัตว์ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงรัก ทรงห่วงใย โดยเฉพาะช้างทางกุยบุรี และแก่งกระจาน ทรงห่วงใยมาตลอด ทรงช่วยหาที่อยู่ ที่กินให้ช้าง จะได้ไม่รบกวนคน คนกับช้างจะได้มีปัญหากันน้อยที่สุด เช่น ที่กุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ช้างมีความสำคัญมาแต่ครั้งประวัติศาสตร์ เคยช่วยรักษาบ้านเมือง กู้บ้านกู้เมือง ดังนั้น ขอให้ช่วยกันดูแลมิให้ช้างถูกฆ่าอย่างทารุณเยี่ยงนี้ เพื่อจะได้ไม่ผิดพระราชประสงค์ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงตั้งพระทัย ที่จะให้มีการอนุรักษ์ช้าง ให้เป็นสัตว์คู่แผ่นดินสืบไป...”

เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนีย์กับ ท่านผู้หญิงฉัตรแก้ว นันทาภิวัฒน์ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ และพลเอก นพดล วรรธโนทัย ณ พระตำหนักจิตรลดา ความว่า “...ขอให้ร่วมมือกับ แม่ทัพภาคที่ ๑ และ ดร.ธวัชชัย สันติสุข ดำเนินการ เรื่อง การปลูกพืชอาหารช้าง การปลูกต้นไม้ให้เป็นป่า มีที่อยู่ที่กินของช้างที่แก่งกระจาน เช่นเดียวกับที่กุยบุรี...”

วัตถุประสงค์ของโครงการ :

๑. อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ โดยมีการบริหารจัดการที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชน

๒. อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ให้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารและแหล่งน้ำของสัตว์ป่า ให้มีความสมดุลและมีความหลากหลายทางชีวภาพ

๓. พัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันกับป่าและสัตว์ป่าได้

๔. พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และองค์กรส่วนท้องถิ่น ได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของโครงการ

ผลการดำเนินงาน : ก่อสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น จัดทำโป่งเทียม และปลูกพืชอาหารช้าง

ประโยชน์ของโครงการ :

๑. สามารถอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ ให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติ รวมถึงสามารถเป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำของสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างป่าได้

๒. เป็นการปลูกจิตสำนึกประชาชนในพื้นที่ให้มีความหวงแหนในทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันอยู่ได้โดยไม่ไปทำลายป่าและสัตว์ป่า

๓. สามารถจัดตั้งเครือข่ายในการเฝ้าระวังการลักลอบการทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ทั้งนี้ เพื่อป้องกัน ปราบปราม หรือลดการกระทำผิดกฎหมายทุกประเภทในพื้นที่โครงการ

๔. สามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานราชการและประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดความขัดแย้งและทำให้ประชาชนในพื้นที่เห็นความสำคัญและประโยชน์ของโครงการ นำไปสู่การสนับสนุนโครงการด้วยความสมัครใจ

   

   

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม