โครงการ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบล ยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอ หนองหญ้าปล้อง จังหวัด เพชรบุรี
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชดำเนินจังหวัดเพชรบุรีทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานสรุปได้ว่า
“...ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ริมห้วยแม่ประจันต์ให้มีน้ำใช้เพาะปลูกและอุปโภค-บริโภคได้ตลอดปี นอกจากนั้นยังช่วยระบายน้ำลงมาเสริมให้กับโครงการชลประทานเพชรบุรีในระยะที่ขาดแคลนน้ำและช่วยเก็บกักไว้ใช้ในฤดูน้ำนอง เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตโครงการเพชรบุรีให้ได้ผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”
โครงการห้วยแม่ประจันต์ฯ เป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งใช้งบประมาณดำเนินงานสูง รัฐบาลในขณะนั้นจึงมีนโยบายที่จะชะลองานก่อสร้างขนาดใหญ่ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๔) กรมชลประทานจึงต้องเลื่อนการก่อสร้างโครงการฯ ออกไป
สืบเนื่องจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๖ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระราชดำริวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ และวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้เร่งดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว กรมชลประทานจึงได้พิจารณาปรับแผนงานก่อสร้างจากเดิมระยะ ๕ ปี (๒๕๔๖-๒๕๕๐) เหลือระยะเวลาการดำเนินการ ๓ ปี (๒๕๔๖-๒๕๔๘) โดยขอให้กองทัพบกสนับสนุนกำลังพลและเครื่องจักรเครื่องมือเข้าร่วมดำเนินการก่อสร้างด้วย
วัตถุประสงค์ :
๑. เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภคได้เพียงพอตลอดปี
๒. เพื่อระบายน้ำเสริมและช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการชลประทานเพชรบุรีในช่วงฤดูแล้ง
๓. เพื่อบรรเทาอุทกภัยในบริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรีในช่วงฤดูน้ำหลาก
แผน/ผลการดำเนินงาน
ผลการดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน :
๑. งานก่อสร้างเขื่อนทำนบดิน ดำเนินงานขุดลอกร่องแกน ปรับปรุงฐานรากและถมดินอัดแน่นด้วยเครื่องจักร งานหินเรียงและหินทิ้ง สรุปผลงานก่อสร้างเขื่อนหัวงาน ๙๔.๖๐ %
๒. งานอาคารท่อระบายน้ำ ดำเนินงานขุดร่องระบายน้ำ งานท่อระบายน้ำ ก่อสร้างอาคารรับน้ำ อาคารควบคุมการระบายน้ำ และติดตั้งเครื่องกว้านบานระบาย สรุปผลงานก่อสร้าง ๖๔.๕๘ %
๓. งานอาคารระบายน้ำล้น ดำเนินงานขุด-ขนย้ายดินและหิน งานคอนกรีตหยาบ งานคอนกรีตเสริมเหล็ก งานหินทิ้ง และงานติดตั้งเครื่องกว้านบานระบาย สรุปผลงานก่อสร้าง ๘๗.๕๔ %
รวมผลงานตั้งแต่เริ่มต้นถึงปัจจุบัน ได้ผลงานทั้งโครงการประมาณ ....% คาดว่าจะดำเนินงานแล้วเสร็จภายในปี ๒๕๔๘ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเก็บกักน้ำได้เต็มปริมาณความจุของอ่างจำนวน ๔๒.๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๘ (ในกรณีค่าเฉลี่ยฝนปกติ) ซึ่งส่งผลให้มีโรงเรียนที่ตั้งอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำจะถูกน้ำท่วม ๒ โรงเรียน ปัจจุบันสำนักงาน กปร. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาในการเตรียมสถานที่เรียนแห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ