๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ ห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตำบล สมเด็จเจริญ อำเภอ หนองปรือ จังหวัด กาญจนบุรี


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระราชทานพระราชดำริแก่นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๓๓ สรุปว่า ให้พิจารณาดำเนินการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่บริเวณตำบลหนองปรือ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ) เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีสภาพเสื่อมโทรมและถูกราษฎรบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าเป็นบริเวณกว้าง และต่อมาได้มีพระราชดำริเพิ่มเติม ให้จัดหาที่ดินจำนวนหนึ่ง เพื่อพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว โดยบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และให้ราษฎรได้อยู่อาศัยทำกินร่วมกับการคงอยู่ของธรรมชาติอย่างเกื้อหนุนกันและกัน และได้พระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

ผลการดำเนินงาน : หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินการสนองพระราชดำริ โดยมี กรมการปกครอง เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับทุกภาคส่วน เพื่อบูรณาการแผนงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยมีผลการดำเนินงานประจำปี ๒๕๕๒ สรุปได้ดังนี้ 

๑. การจัดตั้งถิ่นฐานถาวร งานห้องเรียนชุมชน มีโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรม ๓ แห่ง นักเรียน จำนวน ๙๐ คน ทำให้นักเรียนมีความรู้หลากหลาย โดยการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

โครงการห้องเรียนชุมชน ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนในพื้นที่เข้าร่วมอบรมให้รู้จักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์

๑. การพัฒนาแหล่งน้ำ ได้ดำเนินการก่อสร้างฝายทดน้ำในลำห้วยแม่ระวัง จำนวน ๓ แห่ง และก่อสร้างฝายทดน้ำบ้านห้วยหวาย ๑ เพื่อสนับสนุนแหล่งน้ำให้มีเพียงพอในการทำการเกษตร

ฝายทดน้ำในลำห้วยแม่ระวัง

ฝายทดน้ำบ้านห้วยหวาย

๒. การพัฒนาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการเพาะชำกล้าสะเดา ฝารวก มะฮอกกานี สมอภิเพก มะค่าโม่ง ประดู่ป่า มะขาม รวมจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ กล้า สำหรับแจกจ่ายราษฎร และปลูกป่าหวายในพื้นที่ จำนวน ๑๐๐ ไร่ โดยปลูก ๒๐๐ ต้น/ไร่ รวมกล้าหวาย จำนวน ๒๐,๐๐๐ กล้า เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นวัสดุจักสานในอนาคต สำหรับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ได้ใช้ชุดกำลังจากกองร้อย ตชด. ที่ ๑๓๓ จำนวน ๕ นาย ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ออกปฏิบัติการ รวม ๗๙ ครั้ง ส่งผลให้การลักลอบตัดต้นไม้ทำลายป่าลดน้อยลง

๓. การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนการใช้ผลผลิตจากสะเดาทดแทนการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช การปลูกผักกางมุ้ง การปลูกพืชระบบไฮโดรโปรนิกส์ จัดตั้งระบบและปลูกผัก จำนวน ๓ รุ่น ได้แก่ คะน้าฮ่องเต้ ผักโขม ผักสลัด เห็ดหอม รวมทั้ง ส่งเสริมการปลูกสบู่ดำ จำนวน ๑,๕๐๐ ต้น สำหรับเป็นตัวอย่างและเป็นแหล่งสาธิตให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจโดยทั่วไป

โรงเรือนปลูกพืชระบบไฮโดรโปรนิกส์ ซึ่งเป็นการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินพื้นที่ปลูก ได้แก่ คะน้าฮ่องเต้ ผักโขม และผักสลัด เป็นต้น

แปลงสาธิตการปลูกสบู่ดำ จำนวน ๑,๕๐๐ ต้น เพื่อใช้เป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจโดยทั่วไป 

๔. การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต ดำเนินกิจกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยการจัดชุดกำลังจากกองร้อย ตชด. ที่ ๑๓๓ จำนวน ๕ นาย ออกรณรงค์สืบหาข่าว และเยี่ยมทำความเข้าใจกับประชาชน โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรหนองปรือออกตรวจตราเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยทั่วไป ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษลดจำนวนลง 

จัดคลินิกบริการให้แก่ผู้สูงอายุ ทุกวันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ ๒ ของเดือน ซึ่งมีผู้สูงอายุมาตรวจสุขภาพในคลินิกระยะเวลา ๕ เดือน มีจำนวน ๑๕๐ คน

จัดประกวดคัดเลือกอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่น แต่ละสาขา จำนวน ๑๑ สาขา เพื่อเตรียมความพร้อมประกวดระดับจังหวัด

จัดอบรมแกนนำนักเรียนหลักสูตรศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น ให้แก่นักเรียนโรงเรียนประชามงคล จำนวน ๔๒ คน เพื่อจัดตั้งศูนย์ฯ ในโรงเรียน และส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนและการแก้ไขปัญหาวัยรุ่นและเฝ้าระวังป้องกันยาเสพติดในโรงเรียน

จัดซื้อเวชภัณฑ์ยา/เวชภัณฑ์มิใช่ยา สำหรับใช้ในคลินิกยาเสพติดเพื่อตรวจปัสสาวะผู้ต้องสงสัย หาสารเสพติด และบำบัดผู้ป่วยไม่สมัครใจ

จัดประชุมเชิงปฏิบัติการฟื้นฟูวิชาอาสาสมัครสาธารณสุขให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวน ๔๙๔ คน

จัดซื้อหนังสือให้ห้องสมุดโรงเรียนป่าไม้อุทิศ ๑๕ (บ้านม่วงเต่า) บริการนักเรียนที่สนใจการอ่านและใช้เวลาหาความรู้และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน

การส่งเสริมกิจการการเรียนการสอนแก้ไขปัญหาวัยรุ่น

ประโยชน์ที่ได้รับ : การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ราษฎรในโครงการอย่างมีประสิทธิภาพเป็นรูปธรรม ทั้งการบริการด้านสุขภาพอนามัย การศึกษา และการประกอบอาชีพ ตลอดจนการบริหารจัดการในโครงการอย่างเป็นระบบในลักษณะบูรณาการทุกส่วน 

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ และโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ