โครงการ พัฒนาพื้นที่ภูผาหักตามพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ตำบล ผาสุก อำเภอ วังสามหมอ จังหวัด อุดรธานี
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๗ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านสุมณฑา หมู่ที่ ๑๓ ตำบลผาสุก อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ในการนี้ ได้มีพระราชดำริ สรุปความว่า ขอให้ช่วยกันปลูกเสริมป่า เพื่อสร้างความชุ่มชื้นในดินแม้จะสร้างอ่างเก็บน้ำก็จะแห้งแล้ง ดังนั้นจะต้องปลูกต้นไม้เสริมให้มากๆ
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๘ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ดำเนินการปลูกป่าประกอบด้วย ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้มะค่าโมง ไม้สัตบรรณ และไม้อินทนิล จำนวน ๔๔,๐๐๐ กล้าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบะยาว-หัวนาคำ-นายูง-หนองกุงทับม้า และป่าหนองหญ้าไซที่เสื่อมโทรม เนื้อที่ ๒๐๐ ไร่ พร้อมทั้งปรับปรุงระบบนิเวศป่าต้นน้ำโดยการปลูกไม้มะค่าโมง ไม้ประดู่ ไม้สาธร ไม้อินทนิล ไม้สัตบรรณ จำนวน ๒๕,๐๐๐ กล้า และจัดทำฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน จำนวน ๕๐ แห่ง ประกอบด้วย ฝายแบบหินทิ้ง ๒๖ แห่ง ฝายแบบหินทิ้งปูนซีเมนต์ ๒๒ แห่ง และแบบกระสอบ ๒ แห่ง
ประโยชน์ของโครงการ : สามารถอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ให้คืนสภาพสมบูรณ์ดีดังเดิม สร้างความชุ่มชื้นให้กับระบบนิเวศป่าไม้และป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และทำให้ราษฎรบ้านสุมณฑา บ้านผาสุก บ้านน้อยมาลี บ้านโนนม่วงหวานและบ้านผาทอง ตำบลผาสุก อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี รวม ๓๔๖ ครัวเรือน ๑,๑๖๙ คน มีรายได้เสริมจากการจ้างแรงงานในการปรับปรุงระบบนิเวศฟื้นฟูสภาพป่าและก่อสร้างฝาย
การปลูกป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบะยาว-หัวนาคำ – นายูง – หนองกุงทับม้า และป่าหนองหญ้าไซ ที่เสื่อมโทรม เนื้อที่ ๒๐๐ ไร่ ฝายต้นน้ำแบบผสมผสานหินทิ้ง
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๙ : เนื่องจากการดำเนินงานโครงการในปีงบประมาณ ๒๕๔๙ ไม่สามารถตั้งงบปกติรองรับได้ทัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่องอีก ๑ ปี โดยมีแผนงานปลูกป่า ๑๐๐ไร่ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบะยาว – หัวนาคำ – นายูง หนองกุงทับม้าและป่าหนองหญ้าไซ ประกอบด้วย ประดู่ มะค่าโมง แดง อินทนิล ๒๐,๐๐๐ ต้น เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ให้คืนสภาพสมบูรณ์ดังเดิม บำรุงรักษาสวนเดิม ๒๐๐ ไร่ และปรับปรุงระบบนิเวศน์ต้นน้ำ พื้นที่ ๑,๕๐๐ ไร่ โดยปลูกประดู่ มะค่าโมง สัตตบรรณฯ จำนวน ๓๗,๕๐๐ ต้น เพื่อสร้างความชุ่มชื้นในป่า พร้อมปรับปรุงระบบนิเวศน์ต้นน้ำ ปีที่ ๒ พื้นที่ ๑,๐๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นการปลูกแซมในพื้นที่ช่องว่างระหว่างต้นไม้ แผ้วถางวัชพืชและ ใส่ปุ๋ยพรวนดิน นอกจากนี้ยังดำเนินการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร ๕ แห่ง ซึ่งแต่ละแห่ง มีความจุประมาณ ๒๐-๓๐ ลูกบาศก์เมตร ฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน(หินทิ้ง) ๖๐ แห่ง ฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน(หินทิ้ง ปูนซีเมนต์ยาแนว) ๔๐ แห่ง ทั้งนี้ยังมีแผนป้องกันควบคุมไฟป่า ในพื้นที่ ๗,๕๐๐ ไร่ที่รับผิดชอบด้วย
ประโยชน์ของโครงการ :
๑. ทำให้ราษฎรในพื้นที่หมู่บ้านผาสุกและบ้านสุมณฑา ตำบลผาสุก อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ได้รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น ๓๔๖ ครัวเรือน ราษฎร ๑,๒๖๙ คน ได้รับประโยชน์ มีรายได้จากการจ้างแรงงานปรับปรุงระบบนิเวศน์ต้นน้ำฟื้นฟูสภาพป่าและก่อสร้างฝายต้นน้ำ นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์จากป่าโดยการ เก็บของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ และจับสัตว์น้ำ เช่น กบ บริเวณฝายต้นน้ำ
๒. ทำให้ราษฎรในพื้นที่มีจิตสำนึกในการหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ มีความรู้ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากการประชาสัมพันธ์และมีส่วนร่วมในการปลูกป่า ปรับปรุงระบบนิเวศน์ต้นน้ำและปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า
๓. เป็นการฟื้นฟูอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ คืนสภาพสมบูรณ์ดีดังเดิมสร้างความชุ่มชื้นให้ระบบนิเวศน์ป่าไม้และป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งช่วยกันดับไฟป่ามิให้ลุกลาม
แนวกันไฟป่า รอบพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ภูผาหัก จังหวัดอุดรธานี การปลูกต้น ประดู่ มะค่าโมง แดง อินทนิล
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๕๐ : ปรับปรุงระบบนิเวศน์ต้นน้ำ ๕๐๐ ไร่ โดยการปลูกต้นไม้ท้องถิ่น ๑๒,๕๐๐ ต้น ได้แก่ ประดู่ ๒,๕๐๐ ต้น ยางนา ๒,๕๐๐ ต้น มะค่าโมง ๒,๕๐๐ ต้น อินทนิล ๒,๕๐๐ ต้น ตะแบก ๒,๕๐๐ ต้น จัดทำแนวกันไฟรอบพื้นที่แปลงปลูกป่าระยะทาง 3 กิโลเมตร ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน ๑๐๐ แห่ง ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร ๕ แห่ง และป้องกันควบคุมไฟป่า ๗,๕๐๐ ไร่
ประโยชน์ของโครงการ : ทำให้ราษฎรในพื้นที่หมู่บ้านผาสุกและบ้านสุมณฑา ตำบลผาสุก อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ได้รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น ๓๔๖ ครัวเรือน ราษฎร ๑,๑๖๙ คน มีรายได้จากการปรับปรุงระบบนิเวศน์ต้นน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่าและก่อสร้างฝายต้นน้ำ ราษฎรในพื้นที่มีจิตสำนึกในการหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ มีความรู้ ความเข้าใจ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจากการประชาสัมพันธ์และมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมปลูกป่าปรับปรุงระบบนิเวศน์ต้นน้ำ
ฝายกักเก็บน้ำแบบกึ่งถาวร จัดทำแนวป้องกันไฟป่า
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๕๖ : จัดทำฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน ๑๐๐ แห่ง จัดทำฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร ๕ แห่ง เพาะชำกล้าไม้มีค่าและเพาะชำกล้าไผ่ ๑๐๐,๐๐๐ กล้า เพื่อแจกจ่ายราษฎร เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๖ ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ
ประโยชน์ของโครงการ : ทำให้พื้นที่ป่ามีความชุ่มชื้น และชะลอการไหลของน้ำราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณรอบโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการปลูกป่า และเกิดจิตสำนึก รัก และหวงแหนทรัพยากรป่าไม้มากยิ่งขึ้น
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม