โครงการ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนางานด้านป่าไม้ท่าสว่าง
ตำบล ท่าสว่าง อำเภอ เมืองสุรินทร์ จังหวัด สุรินทร์
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินให้แก่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อมอบให้องค์การบริหารส่วนตำบลท่าสว่างดำเนินโครงการปลูกป่าชุมชน เผยแพร่พระราชดำริด้านป่าไม้ และฟื้นฟูป่าชุมชน โดยกรมป่าไม้ร่วมสนับสนุนดำเนินการ ตามที่ นายธนยศ ญาณวิเศษกุล ราษฎรตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๓๓๕๑ เนื้อที่ ๔ ไร่ ๓ งาน ๑๓ ตารางวา ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อทรงใช้ประโยชน์ตามพระราชอัธยาศัย ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล ๐๐๐๙.๓/๑๘๘๕๑ ลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๑
ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมให้ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับราษฎรถึงบทบาทการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อเผยแพร่พระราชดำริด้านป่าไม้
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๕๒ : จัดตั้งศูนย์เรียนรู้และพัฒนางานด้านป่าไม้ท่าสว่างฯ โดยการก่อสร้างอาคารนิทรรศการ ขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๒ เมตร พร้อมระบบสาธารณูปโภค และจัดทำ จุดสาธิต พร้อมสื่อการเรียนรู้ในพื้นที่โครงการ ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานร้อยละ ๒๐ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมฟื้นฟูป่าชุมชน งานเพาะชำกล้าไม้ งานประชาสัมพันธ์ และให้บริการ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะดำเนินการในลำดับต่อไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม ๒๕๕๓
ประโยชน์ของโครงการ : ทำให้ราษฎรในตำบลท่าสว่าง รวม ๑๘ หมู่บ้าน จำนวน ๑๖,๕๒๘ คน และบริเวณใกล้เคียงมีศูนย์กลางที่สามารถให้บริการได้ทั้งในด้านวิชาการ การสาธิต และการฝึกอบรม รวมทั้งเป็นตัวอย่างของการพัฒนาด้านป่าไม้ ซึ่งประชาชนสามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาอาชีพ และใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างเหมาะสม
ที่ดินเนื้อที่ ๔ ไร่ ๓ งาน ๑๓ ตารางวา ที่นายธนยศ ญาณวิเศษกุล น้อมเกล้าฯ ถวาย สภาพปัจจุบัน ได้เริ่มก่อสร้างอาคารนิทรรศการ พร้อมจุดสาธิตและสื่อการเรียนรู้
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๕๓ : ฟื้นฟูสภาพป่าชุมชน โดยปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ในพื้นที่ ๒๐๐ ไร่ ส่งเสริมกิจกรรมปลูกป่าเพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน และจัดอบรมเพื่อปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ให้กับราษฎรและกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่า-รักษ์น้ำ ในพื้นที่ตำบลท่าสว่าง จำนวน ๗ หมู่บ้าน ส่งเสริมการเพาะปลูกแบบวนเกษตรให้กับราษฎรที่สนใจ ผลิตกล้าพันธุ์ไม้ประเภทต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรปลูกป่าในชุมชนเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย กล้าพันธุ์ไม้ทั่วไป จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ กล้า กล้าไม้ขนาดใหญ่ จำนวน ๔๐,๐๐๐ กล้า และกล้าหวาย จำนวน ๑๐,๐๐๐ กล้า นอกจากนี้ยังได้จัดชุดประชาสัมพันธ์และให้บริการด้านป่าไม้เคลื่อนที่ เพื่อให้ความรู้และส่งเสริมงานด้านป่าไม้ในเขตชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงจำนวน ๒๑ หมู่บ้านอีกด้วย
ประโยชน์ของโครงการ : โครงการศูนย์เรียนรู้การพัฒนางานด้านป่าไม้ท่าสว่าง เป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการ ตัวอย่าง และแหล่งส่งเสริมด้านการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากป่าไม้ให้กับราษฎรในพื้นที่ ซึ่งสามารถนำเอาองค์ความรู้ไปปรับใช้ในป่าชุมชน และพื้นที่ทำกินของตนเองตามความเหมาะสมต่อไป
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๕๔ : กรมป่าไม้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสว่างจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ และในปีงบประมาณ ๒๕๕๔ ได้ดำเนินเพาะชำกล้าไม้เพื่อส่งเสริมการปลูกไม้ ๓ อย่างได้ประโยชน์ ๔ อย่าง และการปลูกป่าด้วยระบบวนเกษตร ปลูกจิตสำนึก เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์
ประโยชน์ของโครงการ : ราษฎรทั้ง ๒๑ หมู่บ้าน ของตำบลท่าสว่าง สามารถนำเอาองค์ความรู้พระราชดำริด้านป่าไม้ นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเองได้อย่างยั่งยืน
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๕๕ : จัดฝึกอบรมและศึกษาดูงานหลักสูตรเยาวชนรักษ์ป่า-รักษ์น้ำ และการทำวนเกษตร จำนวนหลักสูตรละ ๑๐๐ คน ส่งเสริมการปลูกป่าธนาคารอาหารชุมชนเพาะชำกล้าไม้มีค่า ๘๐,๐๐๐ กล้า และกล้าหวาย ๕๐,๐๐๐ กล้า รวมทั้งดำเนินงานด้านปลูกจิตสำนึก ให้ความรู้ด้านอนุรักษ์ และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับบทบาทของศูนย์เรียนรู้ฯ
ประโยชน์ของโครงการ : ทำให้ราษฎร และหน่วยงานในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ และพื้นที่ใกล้เคียง มีแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งสามารถขอรับพันธุ์ไม้จากศูนย์เรียนรู้ฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้การดำเนินงานในช่วงปี ๒๕๕๒-๒๕๕๕ ยังช่วยเพิ่มพื้นที่ป่ารวมประมาณ ๑,๘๐๐ ไร่ รวมทั้งทำให้เกิดเครือข่ายป่าชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง ๕ หมู่บ้าน เครือข่ายวนเกษตร ๔๖ ราย เยาวชนรักษ์ป่า-รักษ์น้ำในโรงเรียน ๗ แห่ง โดยเครือข่ายดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๕๖ : ดำเนินการเพาะชำกล้าไม้มีค่า ๖๐,๐๐๐ กล้า และหญ้าแฝก 10,000 กล้า เพื่อแจกจ่ายให้แก่ราษฎรเพื่อนำไปปลูกในแปลงเกษตรและพื้นที่ป่าชุมชน
ประโยชน์ของโครงการ : จากการดำเนินงานในช่วงปี ๒๕๕๒-๒๕๕๖ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนางานด้านป่าไม้ท่าสว่างฯ ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้แนวพระราชดำริด้านป่าไม้ในพื้นที่ รวมทั้งมีการขยายผลด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และฟื้นฟูป่าชุมชน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมด้านอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์ ไปสู่ราษฎรในเขตตำบลท่าสว่าง ๑๘ หมู่บ้าน ประชากร ๑๗,๐๐๐ คน สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป องค์การบริหารส่วนตำบลท่าสว่างจะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและขยายผลศูนย์เรียนรู้ดังกล่าวไปสู่ราษฎรในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น โดยมีกรมป่าไม้และจังหวัดสุรินทร์ให้การสนับสนุนในด้านวิชาการป่าไม้และการขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นในวงกว้างต่อไป
ที่ตั้งโครงการศูนย์เรียนรู้ฯ พิกัด P๔๘ ระบบ WGS๘๔ x = ๓๓๕๗๐๔ Y = ๑๖๔๘๓๖๓
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการเกษตร