โครงการ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากน้ำชลประทานตามโครงการพระราชดำริ(โครงการชลประทานห้วยหวด)
ตำบล เต่างอย อำเภอ เต่างอย จังหวัด สกลนคร
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรอาคารอเนกประสงค์ ในบริเวณโครงการชลประทานสกลนคร ได้พระราชทานพระราชดำริสรุปได้ว่า “โครงการชลประทานต่างๆ ที่ก่อสร้างเสร็จแล้วควรจัดการให้ราษฎรใช้น้ำอย่างถูกวิธี และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินงาน
เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมี พระราชดำริถึงโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหวด จังหวัดสกลนคร ว่า ยังมีคนใช้ประโยชน์ไม่พอ เป็นอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่มาก มีน้ำมาก แต่ไม่มีคนใช้ประโยชน์จากน้ำเท่าที่ควร ทรงห่วงเรื่องการใช้น้ำ เพราะอ่างเก็บน้ำห้วยหวดทรงจำได้ว่ามีความจุ ๒๒ ล้านลูกบาศก์เมตร
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๓๕ :
๑. จัดตั้งและฝึกอบรมเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ
๒. ส่งเสริมและแนะนำการบริหารการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด
๓. ส่งเสริมและแนะนำการปลูกพืชเศรษฐกิจ และการจัดการด้านการตลาด
๔. การจัดทำแปลงสาธิตไร่นาสวนผสมประจำอ่าง โดยความร่วมมือระหว่างส่วนราชการและเกษตรกร
ประโยชน์ของโครงการ : ช่วยให้ราษฎรในบริเวณ ๗ หมู่บ้าน ในเขตกิ่งอำเภอเต่างอย อำเภอกุดบาก และอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร จำนวนประมาณ ๑,๔๐๕ ครัวเรือน หรือ ๘,๕๓๒ คน สามารถใช้อ่างเก็บน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๕๑ :
๑. จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ๕ ศูนย์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างราษฎรและหน่วยงานราชการทุกหน่วยงานร่วมกันส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร โดยมีการสาธิตปุ๋ยอินทรีย์และสารป้องกันศัตรูพืช พร้อมทั้งได้จัดหาปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และพันธุ์ปลา ให้กับศูนย์เรียนรู้ทั้ง ๕ ศูนย์ด้วย นอกจากนี้ จะได้จัดการฝึกอบรมและทัศนศึกษาของราษฎร รวม ๑๐๐ คน
๒. ฝึกอบรมบุคคลภายนอกตามแผนงานพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็ง องค์กรผู้ใช้น้ำ โดยจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ๕ ครั้ง ครั้งละ ๓๐ คน รวม ๑๒๐ คน จัดการศึกษาดูงานชลประทานของผู้นำชุมชนและผู้นำเกษตรกร หลักสูตร ๑ วัน ๓๐ คน และหลักสูตร ๒ วัน ๓๐ คน
ประโยชน์ของโครงการ : ทำให้ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการเพิ่มองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์แก่ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะได้นำไปขยายผลแก่ราษฎรให้มีความรู้ในการประกอบอาชีพมากขึ้น อันจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยลดปัญหาการว่างงานและการอพยพแรงงาน เป็นการส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๕๒ : อ่างเก็บน้ำห้วยหวดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลจันทร์เพ็ญ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๒๘ มีความจุระดับเก็บกัก ๒๑ ล้านลูกบาศก์เมตร มีคลองส่งน้ำ จำนวน ๗ สาย รวมความยาวประมาณ ๒๑.๓๔๘ กิโลเมตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ ๘,๐๐๐ ไร่ในฤดูฝนและประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ ในฤดูแล้ง
จากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานการใช้ประโยชน์ที่ดินและน้ำชลประทาน ในปี ๒๕๕๐ พบว่าในฤดูฝนมีการเพาะปลูกพืชเต็มพื้นที่ ๘,๐๐๐ ไร่ ปริมาณน้ำที่ส่งให้แก่พื้นที่เพาะปลูกประมาณ ๑๓ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในช่วงฤดูแล้งมีการเพาะปลูกพืชเพียง ๕๘๗ ไร่ จากพื้นที่ที่สามารถส่งน้ำให้ได้ ๒,๐๐๐ ไร่ ปริมาณน้ำที่ส่งให้แก่พื้นที่เพาะปลูกประมาณ ๑.๓ ล้านลูกบาศก์เมตร
สำนักงาน กปร. กรมชลประทาน จังหวัดสกลนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหารือเพื่อพิจารณาหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากน้ำชลประทาน โดยจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากน้ำชลประทาน ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันดำเนินงานส่งเสริมการเพาะปลูกในฤดูแล้งตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบัน พบว่า เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกพืชแล้ว ๑,๒๐๐ ไร่ ประกอบด้วย
๑. ข้าวนาปรัง ๗๒๗ ไร่
๒. ข้าวโพดฝักอ่อน ๒๑๙ ไร่
๓. มะเขือเทศโรงงาน ๑๒๔ ไร่
๔. ข้าวโพดฝักสด ๘๒ ไร่
๕. อื่นๆ (ถั่วลิสง , แตงโม) ๔๘ ไร่
อ่างเก็บน้ำห้วยหวด อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ความจุระดับเก็บกัก ๒๑ ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบัน ณ กันยายน ๒๕๕๒ มีน้ำอยู่ประมาณ ๗.๔๗ ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ ๓๕.๕๙ ของปริมาณน้ำระดับเก็บกัก
อาคารประกอบและคลองส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยหวด สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนได้ ๘,๐๐๐ ไร่และในฤดูแล้ง ๒,๐๐๐ ไร่
การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากน้ำชลประทานตามโครงการพระราชดำริราษฎรทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้นเป็น ๑,๒๐๐ ไร่
ปัจจุบันพื้นที่โครงการมีการปลูกข้าวนาปรัง ๗๒๗ ไร่ ผลผลิต ๔๕๐ กิโลกรัมต่อไร่จำหน่ายกิโลกรัมละ ๗ บาท
ปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ๒๑๙ ไร่ ได้ผลผลิตก่อนแกะเปลือก ๖๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ จำหน่ายกิโลกรัมละ ๖ บาท
ปลูกมะเขือเทศโรงงาน ๑๒๔ ไร่ ผลผลิต ๔,๐๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ จำหน่ายกิโลกรัมละ ๒.๗๐ บาท
ปลูกมะเขือเทศ (เมล็ดพันธุ์ลูกผสม) พื้นที่ ๓ ไร่ จำหน่ายให้แก่บริษัทเพื่อการส่งออก
แนวทางการดำเนินงานต่อไป :
๑. สำนักงาน กปร. ได้ประสานให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าไปช่วยเหลือทางด้านวิชาการและเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในพื้นที่ที่เข้าไปส่งเสริมกิจกรรมในเขตชลประทานห้วยหวดแล้ว จำนวน ๕ แห่ง และจะจัดตั้งใหม่อีก จำนวน ๒ แห่ง
๒. ส่งเสริมสนับสนุนให้ราษฎรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้งให้มากขึ้น คาดว่าจะปลูกเต็มพื้นที่ประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่ ได้ในปี ๒๕๕๔ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้มีความเข้มแข็งในการต่อรองสินค้าทางการเกษตรและการตลาดที่ดีขึ้น
๓. บูรณาการและขับเคลื่อนเครือข่ายโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหวด ทั้งนี้ โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณใกล้เคียง ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดมุกดาหาร โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร-จังหวัดนครพนม โครงการขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหวด เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบที่จะป้อนโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร โดยมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เป็นแหล่งสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้แก่ราษฎร ตลอดจนการดำเนินงานของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ จะเป็นในลักษณะการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ