โครงการ พัฒนาพื้นที่อำเภอปรางค์กู่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
2 ตำบล ตำบล กู่ อำเภอ ปรางค์กู่ จังหวัด ศรีสะเกษ
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรบริเวณโรงเรียนเกาะกระโพธิ์ ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ และมีพระราชดำริสรุปความว่า
๑. ให้พิจารณาจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรให้แก่ราษฎร ตลอดจนตรวจสอบและแก้ไขปัญหาน้ำขุ่นของราษฎรในหมู่บ้านเกาะกระโพธิ์ ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ตามที่ นายคมสัน เจนพิทักษ์คุณ กำนันตำบลกู่ กราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ
๒. ให้พิจารณาจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรช่วยเหลือ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ตามที่ นายพิชัย ธรสาธิตกุล กำนันตำบลตูม กราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๓ :
จังหวัดศรีสะเกษ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
๑. กรมทหารราบเฉพาะกิจที่ ๑๖
- ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำขุ่น โดยการคัดเลือกเกษตรกรในพื้นที่บ้านเกาะกระโพธิ์ที่มีสระน้ำประจำไร่นา จำนวน ๔ ราย ซึ่งประสบปัญหาน้ำขุ่นแดง มีสารแขวนลอยไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภค และการเลี้ยงสัตว์ได้ โดยการทดลองใช้สารจุลินทรีย์อีเอ็มผสมกากน้ำตาลและน้ำสะอาด รวมปริมาตรน้ำ ๑ ลิตร เทใส่น้ำขุ่นแดงมีสารแขวนลอยปริมาตร ๓๐ ลิตร ปัจจุบันบ่อน้ำทั้ง ๔ บ่อ สารแขวนลอยได้ตกตะกอนน้ำใสขึ้นกว่าเดิม สามารถเลี้ยงปลาและนำน้ำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรได้แล้ว
- ก่อสร้างโรงเรือนสุกรพันธุ์แม่บนบ่อปลา ขนาด ๓ X ๓ เมตร ๔ โรง ก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ ขนาด ๖ X ๘ เมตร ๔ โรง ฝึกอบรมเพิ่มทักษะการทอผ้า ๓๐ คน แจกจ่ายปัจจัยการผลิต ได้แก่ ไม้ผล สัตว์ปีก สุกร ปรับพื้นที่และแปลงนา พร้อมจัดทำระบบน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรกร ๔ ราย
๒. กรมชลประทาน ดำเนินการทดลองในสระของเกษตรกรอีก ๑ ราย โดยการดาดดินเหนียวก้นสระและรอบขอบสระบ่อทั้ง ๔ ด้าน เพื่อป้องกันตะกอนใต้ดินขึ้นมาละลายน้ำ
๓. กองพันทหารช่างที่ ๖ กองกำลังสุรนารี ดำเนินการขุดคลองเชื่อมห้วยหวะกับห้วยฆ้อง และขุดสระน้ำเพื่อการเกษตร “ทฤษฎีใหม่” ขนาด ๔๐ X ๔๐ X ๓.๕๐ เมตร จำนวน ๓๐ ราย ในพื้นที่ตำบลตูม ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำแต่น้ำไม่ขุ่น
ประโยชน์ของโครงการ :
ทำให้ราษฎรได้รับประโยชน์โดยตรง จำนวน ๗ หมู่บ้าน ๓๔๔ ครัวเรือน ๒ ตำบล ได้แก่ บ้านเกาะ บ้านกระโพธิ์ ตำบลกู่ และบ้านตะเภา บ้านขี้นาค บ้านรงระ บ้านตรอก บ้านตูมใต้ ตำบลตูม
สระน้ำประจำไร่นาของเกษตรกร ซึ่งเดิมมีปัญหาน้ำขุ่นแดง มีสารแขวนลอยได้ทดลองโดยใช้จุลินทรีย์อีเอ็ม
ผสมกากน้ำตาลและน้ำสะอาด
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๔ :
๑. กรมชลประทาน ดำเนินการขุดลอกห้วยพราน ระยะที่ ๑ และระยะที่ ๒ ในเขตตำบลกู่ พร้อมอาคารประกอบเสร็จเรียบร้อย สามารถกักเก็บน้ำไว้ให้ราษฎรใช้ประโยชน์ได้แล้ว (ใช้งบปกติ)
๒. กองทัพภาคที่ ๒ ดำเนินการขุดสระเพื่อการเกษตรโครงการขยายผลทฤษฎีใหม่ ขนาดประมาณ ๑ ไร่ จำนวน ๓๐ สระ
๓. กรมพัฒนาที่ดิน อบรมผู้นำเกษตรกร ๕๐ ราย สาธิตทำปุ๋ยหมัก ๒ ตัน ส่งเสริมการทำปุ๋ยพืชสด ๒๕๐ ไร่ สาธิตการใช้ปุ๋ยพืชสด ๑๐ ไร่ ปรับสภาพความเป็นกรด เป็นด่างของดิน ๒๕๐ ไร่
๔. กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการก่อสร้างถังเก็บน้ำฝนคอนกรีตเสริมเหล็กให้แก่โรงเรียน จำนวน ๑ แห่ง เพื่อเก็บสำรองไว้ให้เด็กนักเรียน และครูได้มีน้ำใช้
ประโยชน์ของโครงการ :
๑. ราษฎรมีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และอุปโภค-บริโภค อย่างเพียงพอตลอดปี
๒. ราษฎรได้รับการฝึกอบรมและมีอาชีพเสริม สามารถพัฒนาความเป็นอยู่ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่โครงการฯ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จำนวน ๑๔ หมู่บ้าน ๒ ตำบล ได้แก่ ตำบลกู่ และตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ขยายผลโครงการเกษตรตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่
สภาพห้วยพรานที่ขุดลอก
แปลงนาของเกษตรกรมีการปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงบำรุงดินโดยกรมพัฒนาที่ดินก่อนทำนา
แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ในบริเวณพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการฯ
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๕ : กองทัพภาคที่ ๒ ได้ดำเนินการดังนี้
๑. ขุดสระน้ำภายในโรงเรียนขนาดกว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๕๐ เมตร สูง ๑.๓ เมตร และขุดบ่ออนุบาลปลาภายในโรงเรียน ขนาด กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๑๕ เมตร สูง ๑ เมตร จำนวน ๑๘ บ่อ
๒. ขุดลอกห้วยหวะ บ้านขี้นาคน้อย ตำบลตูม ความยาวประมาณ ๒,๒๐๐ เมตร
๓. ขุดลอกคลองส่งน้ำบ้านขี้นาคน้อย ความยาวประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร
4. ขุดสระน้ำเพื่อการเกษตรขนาดกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร สูง ๓.๕ เมตร จำนวน ๓๒ สระ
ประโยชน์ของโครงการ : ทำให้ราษฎร ตำบลตูม ตำบลโพธิ์ศรี ตำบลหนองเชียงทุน และตำบลสวาย จำนวน ๑๔ หมู่บ้าน จำนวน ๑,๖๔๐ ครัวเรือน ๕,๐๘๐ คน ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการ ทำให้มีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และอุปโภค-บริโภคอย่างเพียงพอตลอดปี รวมทั้งพื้นที่การเกษตร จำนวนประมาณ ๓,๒๐๐ ไร่
การปรับปรุงสระน้ำของโรงเรียนบ้านตูม เพื่อสนับสนุนกิจกรรมประมง
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ