โครงการ พัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่ตำบลกันทรอม
ตำบล กันทรอม อำเภอ ขุนหาญ จังหวัด ศรีสะเกษ
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่ นายไพบูลย์ สมนัตน์ ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลกันทรอม และนายหงษ์ทอง นันทะสิงห์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ขอพระราชทานพระมหากรุณาให้ทางราชการดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อทำการเกษตร ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล ๐๐๐๕/๑๖๔๓๐ ลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
แผนการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๗ : กองทัพภาคที่ ๒ ดำเนินการเสริมทำนบดินกั้นน้ำห้วยโอว์เพลิง บ้านกันทอรมน้อย หมู่ ๖ และขุดลอกหนองจรึง บ้านกันทรอมใต้ หมู่ ๔ เพื่อเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำ พร้อมทั้งขุดสระเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ความจุ ๕,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร จำนวน ๒๙ สระ เพื่อขยายผลโครงการ “ทฤษฎีใหม่” ตามแนวพระราชดำริ ปัจจุบันราษฎรสามารถใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรและอุปโภค-บริโภคได้แล้ว
ประโยชน์ของโครงการ :
๑. ทำให้ราษฎรใน ๑๒ หมู่บ้าน ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ บ้านกันทรอม บ้านจองกอ บ้านตามอญ บ้านกันทรอมใต้ บ้านตาเอก บ้านกันทรอมน้อย บ้านข้าง บ้านตาเอกใหม่ บ้านกันทรอมตะวันออก บ้านโนนทองหลาง บ้านกันทรอมกลาง บ้านไทรน้อย รวม ๑,๖๔๕ ครัวเรือน ๘,๕๔๗ คน ได้รับประโยชน์โดยตรง โดยมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภคเพียงพอตลอดปี
๒. ทำให้ราษฎรที่มีพื้นที่ทำกินน้อยและอยู่นอกเขตชลประทานมีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ทำการเกษตรได้ตลอดปี ซึ่งสามารถพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของตนเอง
๓. ทำให้มีน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตรประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่ อย่างต่อเนื่อง
๔. ทำให้มีผลผลิตภาคการเกษตรสูงขึ้น ราษฎรสามารถพึ่งตนเองได้ ชุมชนเข้มแข็งเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนราษฎรอยู่ดีมีความสุข
สระเก็บน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน ๒๙ สระ ที่ได้ดำเนินการขุดเสร็จแล้ว สามารถเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ประโยชน์ได้
แผนการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๘ : กองทัพภาคที่ ๒ จะดำเนินการขุดลอกหนองกระทุ่ม บ้านกันทรอมหมู่ที่ ๑ ขนาดกว้าง ๘ ยาว ๗๘๐ ลึก ๐.๒๐ เมตร เพื่อเพิ่มปริมาตรกักเก็บน้ำ ๒๔ ไร่ ความจุ ๑๒๙,๖๐๐ ลูกบาศก์เมตร และก่อสร้างระบบระบายน้ำอ่างเก็บน้ำโอว์เพลิง บ้านกันทรอมน้อยหมู่ที่ ๖ เพื่อระบายน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรของราษฎร
ประโยชน์ของโครงการ : ทำให้ราษฎร ๑๓ หมู่บ้านในตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ๑,๘๐๓ ครัวเรือน ๙,๓๒๙ คน มีน้ำใช้เพื่อทำการเกษตรและอุปโภค-บริโภคเพียงพอตลอดปี ตลอดจนทำให้ราษฎรที่มีพื้นที่ทำกินน้อยและอยู่นอกเขตชลประทาน มีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ทำการเกษตร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการผลิตภาคการเกษตรราษฎรสามารถพึ่งตนเองได้ชุมชนเข้มแข็งเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน
สภาพหนองกระทุ่มบ้านกันทรอม หมู่ ๑ รางระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำโอว์เพลิง
ที่จะทำการขุดลอก ให้เก็บกักน้ำได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ที่จะทำการขุดลอก และปรับปรุงให้ระบายน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรของราษฎร
แผนการดำเนินงาน ปี ๒๕๕๒ : ขุดลอกหนองตาเกิด กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑,๔๗๐ เมตร ลึก ๐.๒๐ เมตร และวางท่อระบายน้ำเข้า-ออก พร้อมกำแพง คสล. หัว-ท้าย ๒ แนว จำนวน ๒ แห่ง ขุดลอกหนองศาลา กว้าง ๖ เมตร ยาว ๕๐๐ เมตร ลึก ๐.๒๐ เมตร และวางท่อระบายน้ำเข้า-ออก พร้อมกำแพง คสล. หัว-ท้าย ๑ แนว จำนวน ๔ แห่ง และขุดลอกคลองไส้ไก่ พร้อมวางท่อระบายน้ำเข้า-ออก
เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ราษฎรในพื้นที่ทำการเกษตรและยังไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต ประกอบกับพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการฯ เป็นพื้นที่รับน้ำจากเทือกเขาพนมดงรักจึงประสบปัญหาน้ำท่วมขัง
ประโยชน์ของโครงการ : ทำให้ราษฎร ๖ หมู่บ้านในตำบลกันทรอม และ ๕ หมู่บ้านในตำบลขุนหาญ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ มีน้ำใช้สำหรับทำการเกษตรและอุปโภค-บริโภคอย่างเพียงพอตลอดปี อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับปลูกพืชไร่และพืชผักสวนครัว ซึ่งราษฎรจะมีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้และมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนมีขวัญ และกำลังใจ มีความรักถิ่นฐาน ลดปัญหาการอพยพแรงงาน และมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งเป็นการปกป้องพื้นที่ตามแนวชายแดนอีกทางหนึ่ง
สภาพหนองตาเกิดที่จะดำเนินการขุดลอก ปัจจุบันตื้นเขินมีวัชพืชปกคลุม สภาพหนองศาลาที่จะดำเนินการขุดลอก สภาพคลองไส้ไก่ที่จะดำเนินการขุดลอก ปัจจุบันตื้นเขินมีวัชพืชปกคลุม
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๕๔ : ขุดลอกหนองตะเคียน บ้านกันทรอมน้อย และขุดลอกหนองป่าอ้อ บ้านตานวน พร้อมทั้งวางท่อระบายน้ำ
ประโยชน์ของโครงการ : ทำให้ราษฎร ๕ หมู่บ้าน จำนวน ๗๔๓ ครัวเรือน ประชากร ๓,๐๑๕ คน มีน้ำใช้อุปโภค-บริโภคและพื้นที่การเกษตร จำนวน ๒,๐๘๖ ไร่ ได้อย่างเพียงพอตลอดปี
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ