โครงการ แก้ไขปัญหาช้างป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน
อำเภอ เสิงสาง จังหวัด นครราชสีมา
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชดำริ ณ อ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการอนุรักษ์ป่าไม้และช้างป่า โดยพิจารณาหาแนวทาง แก้ไขปัญหาเบื้องต้นและในระยะยาว ด้วยการปลูกพืชเพื่อเพิ่มอาหารช้างป่า
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๕ :
๑. งานสำรวจพื้นที่โครงการเพื่อจัดทำฐานข้อมูลโครงการ พบว่า มีสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนม ๒๕ ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน ๖ ชนิด นก ๑๕๐ ชนิด และผีเสื้อ ๙๖ ชนิด พันธุ์ไม้มีจำนวน ๑๗๕ ชนิด อาทิ ต้นยางนา (ไม้เด่นในพื้นที่) ต้นกระบก (ไม้ที่เป็นอาหารสัตว์ป่า) ต้นปรง (ไม้พื้นล่างในป่าเต็งรัง) และมีแหล่งอาหารตามธรรมชาติของสัตว์ป่า ได้แก่ ดินโป่ง ๕๐ แห่ง ทุ่งหญ้า ๑๕ แห่ง แหล่งน้ำ ๕ แห่ง
๒. งานจัดทำโป่งเทียม จำนวน ๔๐ แห่ง
๓. งานจัดทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ โดยปลูกพืชอาหารช้างในบริเวณพื้นที่ป่า เนื้อที่ จำนวน ๔๐๐ ไร่ และเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน ๒๐๐ ไร่
๔. งานทำฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน โดยจัดทำฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน แบบ C จำนวน ๔๕ และแบบ B จำนวน ๔ แห่ง
๕. งานเฝ้าระวัง ช้างป่าไม่ให้ออกไปทำลายพื้นที่ทำการเกษตรของราษฎร
๖. การฝึกอบรมสร้างจิตสำนึก โดยการสร้างความเข้าใจ การให้ความรู้ และการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์ป่า
ประโยชน์ของโครงการ :
๑. ทำให้ช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน มีแหล่งอาหารและแหล่งน้ำเพียงพอต่อความต้องการ
๒. ทำให้ช้างป่าไม่ออกจากพื้นที่ป่าเข้าไปบุกรุกทำลายพืชสวนไร่นาของราษฎรให้ได้รับความเสียหาย อันอาจะเป็นเหตุให้ช้างป่าถูกทำร้าย
หน่วยราชการ พระภิกษุ นักเรียน และประชาชนทั่วไป ร่วมกันปลูกอาหารช้างในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
ค่ายฝึกอบรมเยาวชนให้มีจิตสำนึก
ในการอนุรักษ์ป่าไม้ และสัตว์ป่า
การจัดทำฝาย เพื่อตักตะกอน
และเป็นแหล่งน้ำให้แก่สัตว์ป่า
สร้างความชุ่มชื้นให้แก่ป่า การจัดทำฝาย เพื่อตักตะกอน
สร้างความชุ่มชื้นให้แก่ป่าและเป็นแหล่งน้ำให้แก่สัตว์ป่า
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๖ :
๑. จัดทำฝายชะลอความชุ่มชื้น ทั้งแบบถาวร กึ่งถาวร และแบบผสมผสาน รวม ๖๙ แห่ง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ความชุ่มชื้นกับพื้นที่และเป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า
๒. จัดทำโป่งเทียม รวม ๖๐ แห่ง ตามสภาพพื้นที่เพื่อให้สัตว์ป่าหากิน
๓. จัดทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ โดยปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อเป็นอาหารช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ
๔. เฝ้าระวัง ช้างป่าไม่ให้ออกไปทำลายพืชผลของเกษตรกรโดยจ้างแรงงานจากราษฎรที่มีพื้นที่ทำกินติดกับแนวเขตป่าและได้รับความเดือดร้อนจากช้างป่าออกมากินพืชผล
๕. ฝึกอบรมสร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชน ประชาชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์ป่า
ประโยชน์ของโครงการ :
๑. ทำให้ช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีแหล่งอาหารและแหล่งน้ำเพียงพอต่อความต้องการ
๒. ทำให้ช้างป่าไม่ออกจากพื้นที่ป่าเข้าไปบุกรุกทำลายพืชสวนไร่นาของราษฎรให้ได้รับความเสียหาย อันอาจเป็นเหตุให้ช้างป่าถูกทำร้าย
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๗ : ฟื้นฟูอาหารช้างโดยการปลูกกล้วยน้ำว้า ไผ่ตง ข้าวโพด และสับปะรด ในพื้นที่ป่า ๓๐๐ ไร่ ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสานและแบบกึ่งถาวร ๒๒ แห่ง จัดทำโป่งเทียม ๒๐ แห่ง พร้อมทั้งฝึกอบรมเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ป่า ๑๐๕ คน และ จัดชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังช้าง ๑๒ คน
ประโยชน์ของโครงการ : ทำให้ช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีแหล่งอาหารและแหล่งน้ำเพียงพอต่อความต้องการไม่ออกจากพื้นที่ป่าเข้าไปบุกรุกทำลายพืชสวนไร่นาของราษฎรให้ได้รับความเสียหาย อันอาจเป็นเหตุให้ช้างป่าถูกทำลาย
แปลงปลูกกล้วยเพื่อเป็นแหล่งอาหารช้างป่า
ฝายกั้นน้ำแบบผสมผสาน
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม