๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ ศึกษาทดลองการแก้ไขปัญหาดินเค็ม

๒๔ ไร่ ๑ งาน ๑๓ ตารางวา ตำบล ตาจั่น อำเภอ คง จังหวัด นครราชสีมา


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๘ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน เนื้อที่ ๕ ไร่ ที่ตำบลตาจั่น อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่ง นางสุวรรณ โพธิ์อุทัย น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อใช้ประโยชน์และต่อมา เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรอำเภอคง จำนวน ๗ ราย เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แทนพระองค์ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินพื้นที่รวมทั้งสิ้น ๑๙ ไร่ ๑ งาน ๑๓ ตารางวา ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินแปลงเดิม รวมทั้งสิ้น จำนวน ๒๔ ไร่ ๑ งาน ๑๓ ตารางวา และพระราชทานที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีพระราชดำริให้พิจารณาจัดทำโครงการศึกษาทดลองการแก้ไขปัญหาดินเค็ม เป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรบริเวณใกล้เคียง ซึ่งประสบปัญหาดินเค็มทำการเกษตรไม่ได้ผล

ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๒ : ดำเนินการก่อสร้างทาง ขุดสระ ขุดร่องน้ำ ถมคันดิน ก่อสร้างศาลาวิชาการ ก่อสร้างถังเก็บน้ำ ฝ ๓๓ และก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่พื้นบ้าน  

ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๓ :

๑. สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ได้ดำเนินการขุดสระน้ำ ปรับปรุงถนน ระยะทาง ๑.๕ กิโลเมตร ก่อสร้างบ้านพักเกษตรกร ศาลาวิชาการ คอกปศุสัตว์ ขุดคูน้ำ คันดินรอบแปลงที่ดิน ปรับพื้นที่แปลงพืชผัก – พืชไร่-ไม้ผล ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปี ๒๕๔๒ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่โครงการฯ

๒. สถานีทดลองข้าวนครราชสีมา ได้ดำเนินการทำนาโดยวิธีปักดำ ใช้ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ ในพื้นที่ ๑๗ ไร่ และในช่วงวันที่ ๒๒ - ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๓ เกิดน้ำท่วมแปลงปลูกข้าวทั้งหมด หลังน้ำลดแล้วข้าวเสียหายประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์

ประโยชน์ของโครงการ : เมื่อโครงการดำเนินงานไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว จะสามารถใช้เป็นต้นแบบสาธิตทำการเกษตรในบริเวณพื้นที่ดินเค็ม ซึ่งราษฎรทั่วไปสามารถเข้าไปศึกษา ดูงานและนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง พร้อมทั้งใช้เป็นแนวทางเลือกประกอบการตัดสินใจในการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริ “การแก้ไขปัญหาดินเค็ม” อาคารศาลาวิชาการ สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ แปลงข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมและเป็นสถานที่บรรยายสรุป 

ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๔ : หน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินงานโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ คือ สระน้ำขนาดพื้นที่ประมาณ ๑ ไร่ อาคารโรงเรือน ๑ ไร่ พื้นที่ทดลองสาธิตปลูกพืชผัก ไม้ผล พืชไร่ รวมประมาณ ๑๑ ไร่ พื้นที่แปลงนาข้าว ๘ ไร่ และทำคันดินรอบแปลงเพื่อป้องกันน้ำท่วม โดยปลูกต้นไม้โดยรอบ 

 

สระน้ำขนาดประมาณ ๑ ไร่

  และปลูกหญ้าแฝกบริเวณขอบสระ เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน 

 

 ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ ๑๐๕

การสาธิตการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง และขยายผลให้ราษฎรบริเวณใกล้เคียงด้วย

กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างฝาย เพื่อกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง และป้องกันน้ำท่วม

ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๕ : สถานีทดลองข้าวนครราชสีมาและหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการฯ ในเนื้อที่รวมทั้งสิ้น จำนวน ๒๔ -๑-๑๓ ไร่ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ ถึงปัจจุบัน ด้วยการปรับปรุงพื้นที่จากพื้นที่นาดินเค็ม น้ำกร่อย จนมีสภาพเหมาะสมสามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิด 

ประโยชน์ของโครงการ : เกษตรกร ๘ หมู่บ้าน จำนวน ๘๓๐ ครัวเรือน รวม ๓,๑๕๗ คน และพื้นที่การเกษตร จำนวน ๔,๐๐๐ ไร่ จะไดรับประโยชน์โดยตรงทั้งวิชาการความรู้และมีน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค รวมทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝน 

กิจกรรมการปลูกพืช เนื้อที่ ๓ ไร่

กิจกรรมการปลูกผัก เนื้อที่ ๓ ไร่

กิจกรรมการเลี้ยงปลา เนื้อที่ ๓ ไร่ 

กิจกรรมการเลี้ยงไก่พื้นเมือง จำนวน ๕๐ ตัว

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการเกษตร