โครงการ สาธิต”ทฤษฎีใหม่” อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
๒๘ ไร่ ตำบล ธงชัยเหนือ อำเภอ ปักธงชัย จังหวัด นครราชสีมา
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้พระราชทานพระราชดำริให้รับที่ดินที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวาย บริเวณบ้านฉัตรมงคล อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และพระราชทานที่ดังกล่าวให้จัดทำโครงการสาธิตทฤษฎีใหม่ขนาดเล็กๆ
เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นางจรรยา ปั้นดี เข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน ๒ แปลง พื้นที่รวมทั้งสิ้น ๒๑ ไร่ ๓ งาน ๓๙ ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑๔ บ้านฉัตรมงคล ตำบลธงชัยเหนือ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และพระราชทานที่ดินดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีพระราชดำริให้พิจารณาจัดทำเป็นโครงการสาธิต “ทฤษฎีใหม่”
ต่อมา เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๑ นางสมควร มณีสุริยา ได้ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าถวายที่ดิน ซึ่งอยู่ติดกันทางทิศใต้แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพิ่มเติมอีก จำนวน ๗ ไร่ ๒ งาน ๘๕ ตารางวา
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๐ :
๑. กองทัพภาคที่ ๒ ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ แล้วเสร็จสมบูรณ์แล้ว ดังนี้
- งานขุดสระน้ำ ขนาด ๔๐ X ๘๓ เมตร ลึก ๔ เมตร คิดเป็นปริมาตรดิน ๑๐,๔๗๒ ลูกบาศก์เมตร และวางท่อน้ำขนาด ๓๐ เซนติเมตร พร้อมกำแพงดินปากท่อ ๒ แนว
- งานปรับพื้นที่เป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่-สวน จำนวน ๑๐ ไร่ พื้นที่สำหรับทำนา จำนวน ๘ ไร่ และพื้นที่สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย จำนวน ๑ ไร่
- ก่อสร้างอาคารศาลาวิชาการ ขนาด ๖ X ๙ เมตร เพื่อใช้เป็นที่จัดแสดงทางวิชาการ และเก็บอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ของโครงการ
- งานทำถนนลูกรังขนาดผิวจราจร ๕ เมตร ยาว ๔๖๔ เมตร โดยถมดินสูง ๑ เมตร ผิวลูกรังหนา ๑๐ เซนติเมตร และวางท่อลอดขนาด ๖๐ เซนติเมตร ยาว ๘ เมตร พร้อมกำแพงดินกั้น
๒. กรมพัฒนาที่ดิน ได้ปลูกหญ้าแฝกบริเวณรอบสระน้ำ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน จำนวน ๖,๐๐๐ ต้น
นางจรรยา ปั้นดี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน ๒๑ ไร่ ๓ งาน ๓๙ ตารางวา เพื่อทำเป็นโครงการสาธิต "ทฤษฎีใหม่"
ปลูกแฝกบริเวณรอบขอบสระ
เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
ขุดสระกักเก็บน้ำขนาด ๒ ไร่ ลึก ๔ เมตร
สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร
วางท่อทางน้ำเข้าขนาด ๓๐ เซนติเมตร
เพื่อรับน้ำเข้าสู่สระกักเก็บน้ำ
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๒ : พัฒนาการเกษตรแบบผสมผสานตามแนว “ทฤษฏีใหม่” โดยการจัดทำเรือนเพาะชำขนาด ๒๐x๒๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง ยกร่องทำแปลงขยายพันธุ์พืชและแปลงสาธิตพืชสมุนไพร และหว่านข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ ๑๐๕
๑. พื้นที่ส่วนที่ ๑ ประมาณ ๑๕ ไร่ จัดทำโครงการสาธิตการพัฒนาการเกษตรตามแนว “ทฤษฎีใหม่”
๒. พื้นที่ส่วนที่ ๒ ประมาณ ๖ ไร่ ทำการเกษตรแบบวิถีชาวบ้านหรือวิธีการพื้นบ้านของเกษตรกร เพื่อเปรียบเทียบกับการทำการเกษตรตามแนว “ทฤษฎีใหม่”
๓. พื้นที่ส่วนที่ ๓ ประมาณ ๗ ไร่ จัดทำเรือนเพาะชำ แปลงขยายพันธุ์พืชและแปลงสมุนไพร
ประโยชน์ของโครงการ : ทำให้ราษฎรได้รับประโยชน์โดยตรง ๕ หมู่บ้าน ๑ ตำบล ได้แก่ บ้านโคกศิลา บ้านคอนขว้าง บ้านโคกสะอาด บ้านไชโย และบ้านโคกเห็ดไคร ตำบลธงชัยเหนือ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา โดยได้รับการศึกษาอบรมทำให้สามารถนำไปปรับใช้ประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นการยกมาตรฐานการผลิตให้มีคุณภาพดีขึ้น
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๓ : กำหนดแนวทางดำเนินงานโดยแบ่งการใช้พื้นที่เป็น ๓ ส่วน
๑. พื้นที่ส่วนที่ ๑ ประมาณ ๑๕ ไร่ จัดทำโครงการสาธิตการพัฒนาการเกษตรตามแนว “ทฤษฎีใหม่”
๒. พื้นที่ส่วนที่ ๒ ประมาณ ๖ ไร่ ทำการเกษตรแบบวิถีชาวบ้านหรือวิธีการพื้นบ้านของเกษตรกร เพื่อเปรียบเทียบกับการทำการเกษตรตามแนว “ทฤษฎีใหม่”
๓. พื้นที่ส่วนที่ ๓ ประมาณ ๗ ไร่ จัดทำเรือนเพาะชำ แปลงขยายพันธุ์พืชและแปลงสมุนไพร
ประโยชน์ของโครงการ : เป็นต้นแบบสาธิตการทำการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งราษฎรทั่วไปสามารถเข้าไปศึกษาดูงานและนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง พร้อมทั้งใช้เป็นแนวทางเลือกประกอบการตัดสินใจในการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่”
สระเก็บน้ำซึ่งสนับสนุนแปลงปลูกพืชผสมผสาน ซึ่งขณะนี้พืชที่ปลูกมีการเจริญเติบโตดี และให้ผลผลิตแล้ว โดยจำหน่ายให้กับราษฎรในโครงการและบริเวณใกล้เคียงในราคาถูก เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่มีฐานะยากจน
แปลงแสดงการปลูกข้าวตามแนวทฤษฎีใหม่
ให้ผลผลิตประมาณ ๓๔๒ กิโลกรัมต่อไร่
แปลงแสดงการปลูกข้าวแบบดั้งเดิม
ให้ผลผลิตประมาณ ๑๘๔ กิโลกรัมต่อไร่
การเลี้ยงไก่เนื้อพื้นเมืองพันธุ์ดี ในระยะนี้ไก่ให้ไข่น้อยและมีเปอร์เซ็นต์การฟักต่ำมาก ประมาณ ๒๐ - ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ทำให้รายได้ไม่พอค่าอาหารไก่ เนื่องจากไก่มีอายุมากและอากาศในโรงเรือนร้อนเกินไป
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๔ : สามารถสรุปได้ ดังนี้
๑. การปลูกข้าว ทำนาในปี ๒๕๔๓ โดยวิธีปักดำ และการหว่าน ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ พื้นที่ ๔.๕ ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย ๓๘๗.๘ กิโลกรัมต่อไร่
๒. การปลูกพืชหลังนา หลังการเก็บเกี่ยวข้าว และนวดข้าวแล้วในช่วงของการทำนาปี ๒๕๔๓ ประมาณเดือนมกราคม ๒๕๔๔ ได้ปลูกพืชไร่อายุสั้น ได้แก่ ข้าวโพดเทียนสุโขทัย ๑ และหว่านถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท ๓๖
๓. การปลูกพืชผสมผสาน ไม้ผลบางอย่างเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ คือ ฝรั่ง มะละกอ กล้วย กระท้อน
๔. การเลี้ยงสัตว์ มีการเลี้ยงไก่ลูกผสม ๓ ทาง โดยใช้พ่อพันธุ์พื้นเมืองและแม่ไก่พันธุ์เนื้อลูกผสมได้นำไข่มาฟักในตู้อบ สำหรับปลาเลี้ยงโดยให้อาหารตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นปลากินพืช แต่มีการให้อาหารสำเร็จรูปเสริมบ้าง
๕.การถ่ายทอดเทคโนโลยี มีเกษตรกรและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมโครงการตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๔๓ ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๔๔ ประมาณ ๓๒ คณะ จำนวน ๘๕๐ คน
พื้นที่บริเวณขอบสระน้ำ ปลูกไม้ผล พืชผัก ซึ่งความเจริญเติบโตดี และให้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก โดยมีราษฎรเข้ามาศึกษาดูงานและนำกลับไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง
กิจกรรมปลูกพืช บริเวณคันดินและขอบสระน้ำ เพื่อสาธิตให้เห็นการบริหารจัดการดินและน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสามารถทำได้จริง
ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๕ : สามารถสรุปได้ ดังนี้
๑. กิจกรรมการปลูกข้าว ปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ ในพื้นที่ ๔.๕ ไร่ ด้วยวิธีปักดำและหว่านในฤดูปกติ ได้ผลผลิตเฉลี่ยปริมาณ ๔๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งนับได้ว่าให้ปริมาณผลผลิตสูงกว่าราษฎรที่เคยทำกันมา
๒. กิจกรรมกากรปลูกพืชผสมผสาน ปลูกพันธุ์ไม้ผลหลายชนิดในพื้นที่ ๗ ไร่ เช่น มะม่วง ขนุน กระท้อน ฯลฯ ซึ่งมีความเจริญงอกงามดี ที่ปลุกหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวให้ผลผลิตพอใช้ได้ สามารถเก็บขายเป็นรายได้แล้ว
๓. กิจกรรมการเลี้ยงไก่ ปศุสัตว์อำเภอปักธงชัย ได้นำไก่ ๓ สายพันธุ์มาเลี้ยง ในช่วง ๒ ปีแรก แต่เนื่องจากไก่มีเปอร์เซ็นต์การฟักไข่ต่ำ จึงเปลี่ยนสายพันธุ์ไก่มาเป็นไก่พื้นบ้านแทน
๔. การถ่ายทอดเทคโนโลยี โครงการฯ ได้จำลองพื้นที่ โดยการจัดเป็นรูปแบบกิจกรรมที่ชัดเจนในระบบการเกษตร “ทฤษฎีใหม่” ทำให้เกษตรกรและผู้สนใจศึกษาดูงานได้เห็นภาพรวมของกิจกรรมต่างๆ
ประโยชน์ของโครงการ : เป็นต้นแบบสาธิตการทำการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งราษฎรทั่วไปสามารถเข้าไปศึกษาดูงานและนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง พร้อมทั้งใช้เป็นแนวทางเลือกประกอบการตัดสินใจในการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่”
ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร
กิจกรรมปลูกพืชผสมผสาน พื้นที่ ๗ ไร่
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการเกษตร