๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ บ้านเล็กในป่าใหญ่บ้านทันสมัย อำเภอปลาปาก

ตำบล ปลาปาก อำเภอ ปลาปาก จังหวัด นครพนม


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๓๕ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำริ ณ บ้านโพนสว่าง-ป่าปลาปาก อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ได้สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้ การแก้ปัญหาสภาพความแห้งแล้งมิให้ทวีความรุนแรงขึ้น โดยการรักษาสภาพป่าที่มีอยู่เดิมให้คงอยู่ และส่งเสริมการทำประโยชน์ในที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมอบหมายให้ราษฎรในพื้นที่เป็นผู้ดูแลรักษาเอง เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และอาชีพ และมีส่วนร่วมป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้พิจารณาดำเนินการขุดสระเก็บกักน้ำตามแนวทฤษฎีใหม่ให้สมาชิกโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ จำนวน ๒๕ ราย เพื่อจะได้มีน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค เลี้ยงสัตว์ และการเกษตรได้ตลอดปี ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานของแม่ทัพภาคที่ ๒

ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๓๗ : ได้ดำเนินการปลูกต้นไม้เสริมป่ากว่า ๕๐,๐๐๐ ต้น เพาะชำกล้าไม้ ๒๐๓,๗๐๐ ต้น ส่งเสริมและสาธิตการปลูกป่าเศรษฐกิจ การฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันรักษาป่า และติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง 

ประโยชน์ของโครงการ : ทำให้ราษฎรที่ได้รับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อม รวมถึงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าไม่ให้สูญพันธุ์ 

สภาพพื้นที่ป่าที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวาย จำนวนทั้งหมด ๖๘๔ แปลง

ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๑ : งานพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสาน 

- ทดสอบและพัฒนาระบบการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบผสมผสาน ๒๒๕ ไร่

- ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร

- ติดตามการประเมินผลและประสานงาน

ประโยชน์ของโครงการ : จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่ราษฎรใน ๗ หมู่บ้าน ๒ ตำบล อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม มีความรู้ในการปลูกพืชแบบผสมผสาน และมีความสามารถพัฒนาตนเองและชุมชน ทำให้มีรายได้และความเป็นอยู่ดีขึ้น 

ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๔๒ : ดำเนินการขุดสระน้ำขนาด ๑๖ x ๓๖ x ๔ ม. พร้อมวางท่อระบายน้ำเข้าสระจำนวน ๒๕ สระ และขนาด ๔๐ x ๔๐ x ๔ ม. พร้อมท่อระบายน้ำเข้าสระ จำนวน ๑ สระ 

ประโยชน์ที่ของโครงการ :

๑. ทำให้ราษฎร จำนวน ๑ หมู่ที่ ๒๕ ครัวเรือน ๑๒๕ คน มีน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ประมง และอุปโภค บริโภคได้ตลอดปี

๒. เป็นแหล่งสนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้ประมาณ ๒๒๖ ไร่ และเป็นการส่งเสริมให้ราษฎรทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและคุณภาพชีวิต

ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๕๔ : ฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำและสภาพป่าที่เสื่อมโทรม โดยการปลูกป่าทดแทน, ปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ปลูกป่าหวาย และก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสานในพื้นที่ป่าต้นน้ำ 

ประโยชน์ของโครงการ : ทำให้ราษฎร ๗ หมู่บ้าน จำนวน ๑,๐๙๒ ครัวเรือน มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้นของดิน มีระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่ดี ราษฎรได้มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินที่เหมาะสม ส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพด้านการเกษตร ทำให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๕๕ : ปลูกป่าทดแทนและป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง จำนวน ๑๐๐ ไร่ ปลูกป่าหวาย จำนวน ๑๐๐ ไร่ เพาะชำกล้าไม้มีค่า จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ กล้า และก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสานในพื้นที่ป่าต้นน้ำ จำนวน ๕๐ แห่ง 

ประโยชน์ของโครงการ : ทำให้ราษฎรในพื้นที่โครงการ ๗ หมู่บ้าน จำนวน ๑,๐๙๒ ครัวเรือน มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น และได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนด้านอาชีพเกษตร รวมทั้งมีรายได้เสริมจากการจ้างแรงงาน 

ผลการดำเนินงาน ปี ๒๕๕๖  : ฟื้นฟูสภาพป่าโดยการปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย ๕๐ ไร่ ปลูกป่าหวาย ๕๐ ไร่ เพาะชำกล้าไม้มีค่า ๑๐๐,๐๐๐ กล้า และก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสานในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ๕๐ แห่ง ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว 

ประโยชน์ของโครงการ : เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นในชุมชนโดยรอบพื้นที่โครงการส่งผลให้ราษฎร ๗ หมู่บ้าน จำนวน ๑,๐๙๒ ครัวเรือน มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้นของดิน มีระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่ดี ตลอดจนมีเส้นทางป้องกันไฟป่าในระยะยาว คนอยู่กับป่าได้อย่างสมดุล ราษฎรได้มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินที่เหมาะสม พร้อมทั้งได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพด้านการเกษตร ทำให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ