โครงการ พัฒนาพื้นที่อำเภอดอยเต่า (งานก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านหนองปู - หนองผักบุ้ง)
ตำบล บงตัน อำเภอ ดอยเต่า จังหวัด เชียงใหม่
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๙ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านแม่บวนเหนือ-แม่บวนใต้ หมู่ที่ ๘ และหมู่ที่ ๑๐ ตำบลโปงทุ่ง อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ในการนี้ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาจัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือราษฎรในเขตตำบลบงตัน ตำบลบ้านแอ่น และตำบลท่าเดื่อ อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ที่ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยใช้พื้นที่ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำปิงทำการเกษตรซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นที่สูง จึงต้องอาศัยน้ำฝนและแหล่งเก็บกักน้ำภายในพื้นที่
ที่ตั้งโครงการ
อำเภอดอยเต่า มีระยะทางห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๒๕ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๘๐๔ ตารางกิโลเมตร ได้จัดแบ่งการปกครองออกเป็น ๖ ตำบล ประกอบด้วย ตำบลดอยเต่า ตำบลมืดกา ตำบลบงตัน ตำบลบ้านแอ่น ตำบลท่าเดื่อ และตำบลโป่งทุ่ง อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับอำเภอฮอด ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอลี้ ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอลี้ และทิศตะวันตกติดต่อกับอำเภออมก๋อย
วัตถุประสงค์ของโครงการ
๑. เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรของราษฎรในเขตพื้นที่โครงการ ในช่วงขาดแคลนน้ำ
๒. เพื่อให้ราษฎรในเขตพื้นที่โครงการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีผลผลิตและรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น
๓. เพื่อการอนุรักษ์และรักษาสภาพลำห้วยตามธรรมชาติ ทำให้เกิดความชุ่มชื้นแก่พื้นดินและป่าไม้
สภาพทั่วไป
สภาพภูมิอากาศ
สภาพอากาศโดยทั่วไปของอำเภอดอยเต่า มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ ๒๔.๘๕ องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนจะร้อนจัดและมีพายุพัดรุนแรง เกิดวาตภัยเป็นประจำทุกปี ในฤดูหนาว มีอากาศหนาวจัด มีหมอกปกคลุมพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด ๔ องศาเซลเซียส ส่วนฤดูร้อนจะร้อนจัด อุณหภูมิประมาณ ๔๑.๒ องศาเซลเซียส
ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีจากรายงานการจดบันทึกสถิติของนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล ปี ๒๕๑๗ - ๒๕๓๘ จะมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงกว่า ๙๐๐ มิลลิลิตร โดยมีฝนตกสูงสุดในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ วัดได้ ๑,๕๖๘.๕๐ มิลลิเมตร และต่ำสุดในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ วัดได้ ๖๗๕ มิลลิลิตร ส่วนใหญ่ฝนจะตกซุกในช่วงเดือน พฤษภาคม-กันยายน ของทุกปี
สถิติปริมาณน้ำฝนเป็นมิลลิเมตรในเขตอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ สถานี ๐๗๑๙๒ ของกรมชลประทาน ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี ๙๕๒.๓๖ มิลลิเมตร จำนวนวันที่ฝนตกเฉลี่ยทั้งปี ๙๓.๗๐ วัน และใช้อัตราการระเหยเฉลี่ยรวมทั้งปี ๑,๔๒๓.๒๕ มิลลิเมตร ของสถานีอำเภอ สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
สภาพภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศของอำเภอดอยเต่าโดยทั่วไปเป็นภูเขาเตี้ยและเนินสูงสลับกันประกอบด้วย หุบเขาและลำห้วยมีภูเขาสูงโดยรอบ มีรูปทรงคล้ายอ่างเก็บน้ำเมื่อฝนตกน้ำตามลำห้วยจะไหลลงสู่แม่น้ำปิงอย่างรวดเร็ว และถ้ามีปริมาณน้ำฝนมากจะมีน้ำกักขังเป็นทะเลสาบดอยเต่า สภาพดินทั่วไปเป็นดินปนทรายไม่สามารถกักเก็บน้ำได้สภาพป่าเป็นป่าโปร่ง พื้นที่ส่วนริมฝั่งด้านตะวันออกเขตทะเลสาบ เป็นพื้นที่ภูเขาเตี้ยและเนินสูงสลับกันความลาดชันตั้งแต่ ๒๖๐-๓๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นที่ตั้งของแหล่งชุมชน ได้แก่ ตำบลบ้านแอ่น ตำบลห้วยบง และตำบลท่าเดื่อ
สภาพลำน้ำ
พื้นที่อำเภอดอยเต่า ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำแม่หาด ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาฝั่งซ้ายของลำน้ำปิง พื้นที่รับน้ำฝนของลุ่มน้ำสาขาแม่หาด มีทั้งสิ้น ๕๓๓ ตร.กม. ลุ่มน้ำสาขาแม่หาดมีลำน้ำแม่หาด เป็นลำน้ำสายหลัก โดยมีลำน้ำย่อยสาย คือ ห้วยแม่ตูบ โดยลำน้ำสาขาย่อยต่าง ๆ จะไหลลงมาจากภูเขาสูง ซึ่งลำน้ำเหล่านี้จะอยู่เหนือเขื่อนภูมิพล ในระยะที่เขื่อนภูมิพล มีการกักเก็บน้ำจะมีผลให้ระดับน้ำในลุ่มน้ำแม่หาดสูงขึ้น สำหรับสภาพลำน้ำธรรมชาติส่วนใหญ่ตื้นเขิน และบางแห่งมีการทำลายป่าไม้ในพื้นที่ต้นน้ำ เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และเกิดอุทกภัยในฤดูฝน
รายละเอียดโครงการ
รายละเอียดมีดังนี้
- ที่ตั้งสถานีสูบน้ำ บ้านห้วยส้ม หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าเดื่อ อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่
ที่พิกัด 47 QMV 651-870 ระวาง ๔๗๔๔ IV แผนที่ ๑ : ๕๐,๐๐๐
- ประเภทโครงการ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า
- ความกว้างของลำน้ำบริเวณหัวงาน ๒๐๐.๐๐ ม.
- ระดับของตลิ่งหรือที่ตั้งเครื่องสูบน้ำ +๒๕๐.๐๐ ม.(รทก.)
- ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยในช่วงฤดูแล้ง (พ.ย.- เม.ย.) ๑๔๔.๒๔ ลบ.ม./วินาที
- ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรวมทั้งปี ๙๕๒.๓๖ มม.
- จำนวนวันที่ฝนตกเฉลี่ยทั้งปี ๙๓.๗๐ วัน
- อัตราการระเหยเฉลี่ยรวมทั้งปี ๑,๔๖๖.๓๘ มม.
- ระยะความสูงในการส่งน้ำประมาณ ๓๕.๐๐ ม.
- เครื่องสูบน้ำ จำนวน ๑ เครื่อง
- เครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน ๑ เครื่อง
- ระยะห่างจากระบบสายไฟฟ้าแรงสูง ๔๐๐ ม.
- ระบบส่งน้ำท่อส่งน้ำรับแรงดัน ชนิดท่อซีเมนต์ใยหินขนาด f ๐.๔๐ เมตร ยาวประมาณ ๓,๐๐๐ เมตร พร้อมก่อสร้างระบบจ่ายน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรตามความเหมาะสม
-ดำเนินการก่อสร้างอาคารพักน้ำ คสล. บริเวณพื้นที่หลังพุทธสถานดอยต๊อก ที่พิกัด 47 QMV 659-895 ระวาง 4744 IV แผนที่ ๑ : ๕๐,๐๐๐ พร้อมก่อสร้างระบบคลองส่งน้ำดาดคอนกรีต ขนาดท้องคลองกว้างประมาณ 0.30 เมตร ลึกประมาณ ๐.๕๐ เมตร มีความยาวประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร เพื่อรับน้ำจากอาคารพักน้ำ คสล. เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตร
- อาคารประกอบในระบบส่งน้ำ ตามความเหมาะสม
- พื้นที่การเกษตรที่รับประโยชน์ ๕๐๐ ไร่
กิจกรรมที่ดำเนินการ
กรมชลประทาน ได้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบส่งน้ำ บ้านแอ่นจัดสรร ในปีงบประมาณ ๒๕๔๙ เริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ แล้วเสร็จในเดือนกันยายน ๒๕๔๙ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. เป็นจำนวนเงิน ๘,๔๘๘,๘๐๐.๐๐ บาท (แปดล้านสี่แสนแปดหมื่นแปดพันแปดร้อยบาทถ้วน)
รูปภาพโครงการ
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ