โครงการ อนุรักษ์สภาพป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านซิแบร (จัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรบ้านห้วยขนุน)
ตำบล แม่ตื่น อำเภอ อมก๋อย จังหวัด เชียงใหม่
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์สภาพป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านซิแบร ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ในการนี้ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาจัดหาน้ำเพิ่มเติมให้กับราษฎรบ้านห้วยขนุนและบ้านห้วยยาบ ตามที่ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ กราบทูลขอพระราชทาน
ที่ตั้งโครงการ
อำเภออมก๋อย ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๘ เป็นระยะทาง ๑๗๑ กิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือจดอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันตกจดอำเภอ สบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ทิศใต้จดอำเภอสามเงา จังหวัดตาก และทิศตะวันออกจดอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก
วัตถุประสงค์ของโครงการ :
๑.เพื่อจัดหาน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรของราษฎรบ้านห้วยขนุน ประมาณ ๔๐๐ ไร่
๒. เพื่อจัดหาน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภคของราษฎรบ้านห้วยขนุน
๓. เพื่อให้ราษฎรบ้านห้วยขนุน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีผลผลิตและรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น
๔. เพื่อการอนุรักษ์และรักษาสภาพลำห้วยตามธรรมชาติ
สภาพทั่วไป
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป ฤดูฝนมีฝนตกชุก ฤดูหนาวจะมีอากาศหนาวเย็นและในฤดูร้อนมีอากาศร้อนจัด สถิติปริมาณน้ำฝนเป็นมิลลิเมตร ในเขตอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีประมาณ ๘๙๒.๗๐ มิลลิเมตร จำนวนวันที่ฝนตกเฉลี่ยประมาณ ๙๗.๔๐ วัน อัตราการระเหยเฉลี่ย ๑,๖๗๓.๖๐ มิลลิเมตร
สภาพภูมิประเทศ
อำเภออมก๋อย ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้และภูเขาสูง ประมาณ ๘๕ % ของพื้นที่ทั้งหมด มีที่ราบลุ่มประมาณ ๖ % และพื้นที่อื่น ๆ ประมาณ ๙ % มีเทือกเขาหลายเทือกที่สำคัญ เช่น ด้านทิศตะวันออกเป็นสันเขาแนวยาวจากเหนือไปใต้เป็นสันปันน้ำลงสู่น้ำปิงและต้นน้ำแม่ตื่น ด้านทิศตะวันตกเป็นสันปันน้ำแม่ตื่นกับลุ่มน้ำยวม มีดอยขุนตื่น ดอยทุ่งกว้าง ดอยผุย ดอยผาลาด ดอยมูเซอ ดอยม่อนจอง ประกอบกับอำเภออมก๋อย อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตื่น มีลำน้ำสายสำคัญ ได้แก่ น้ำแม่ตื่น น้ำแม่ละมีด น้ำแม่ต๋อม
ที่ตั้งหัวงาน
พื้นที่ของโครงการตั้งอยู่ในเขตบ้านห้วยขนุน หมู่ที่ ๘ ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่บริเวณพิกัด 47 QMV 321-339 (E 4332100, N 1933900) ระวาง 4643-I แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบในหุบเขา และลาดเชิงเขาตามแนวลำห้วยยาบทั้งสองฝั่ง ที่ตั้งหัวงานอยู่ในเขตพื้นที่ป่าอมก๋อย โซน C คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1A
สภาพลำน้ำ
ลำห้วยขนุน เป็นลำห้วยสาขาฝั่งขวาของลำน้ำแม่ตื่น มีต้นน้ำเกิดจากบริเวณแนวสันเขาสูงทางด้านทิศตะวันตกของอำเภออมก๋อย แนวเขตติดต่อกับอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ไหลจากทิศตะวันตก ไปสู่ทิศตะวันออก ไหลผ่านบ้านห้วยขนุนไปรวมกับน้ำแม่ตื่น มีความยาวรวมทั้งหมดประมาณ ๙.๐๐ กิโลเมตร พื้นที่รับน้ำฝนบริเวณจุดที่ตั้งหัวงานประมาณ ๒.๓๒ ตารางกิโลเมตร ลำห้วยกว้างประมาณ ๕-๑๐ เมตร ท้องลำห้วยส่วนมากเป็นตะกอนทราย กรวด และหิน มีน้ำไหลตลอดทั้งปี
รายละเอียดโครงการ :
มีรายละเอียดดังนี้
ฝายบ้านห้วยขนุน พร้อมระบบส่งน้ำ
- ที่ตั้งโครงการ บ้านห้วยขนุน หมู่ที่ ๘ ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
บริเวณพิกัด 47 QMV 321-339 ระวาง 4643 I แผนที่มาตราส่วน 1:50,000
- ประเภทโครงการ ฝาย คสล. พร้อมระบบส่งน้ำ
- พื้นที่รับน้ำฝนเหนือหัวงานประมาณ ๒.๓๒ ตร.กม.
- ระดับสูงสุดของลำห้วยสายหลัก + ๑,๓๘๐.๐๐ ม.(รทก.)
- ระดับท้องลำห้วยจุดที่ตั้งหัวงาน + ๙๔๗.๐๐ ม.(รทก.)
- ความยาวลำห้วยจากต้นน้ำถึงหัวงาน ๑.๕๐ กม.
- ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี ๘๙๒.๗๐ มม.
- อัตราการระเหยเฉลี่ยทั้งปี ๑,๖๗๓.๖๐ มม.
- ปริมาณน้ำไหลผ่านหัวงานเฉลี่ยทั้งปี ประมาณ ๐.๔๕๙ ล้าน ลบ.ม.
- ปริมาณน้ำนองสูงสุด (Return Period 25 ปี) ๕.๘๗ ลบ.ม./วินาที
- อาคารหัวงาน
ความยาวสันฝาย ๗.๐๐ ม.
ความสูงฝาย ๑.๒๐ ม.
- อาคาร ทรบ. ปากคลองฝั่งขวา จำนวน ๑ แห่ง
- ระบบท่อส่งน้ำฝั่งขวา ด้วยท่อ PVC. ขนาด f ๐.๑๐ ม. ยาวประมาณ ๖,๗๐๐ ม.
- อาคารบ่อเก็บน้ำ คสล. ขนาดความจุ ๕๐ ลบ.ม. จำนวน ๓ แห่ง
ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ :
๑. สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของราษฎรบ้านห้วยขนุน ประมาณ ๔๐๐ ไร่
๒. ราษฎรบ้านห้วยขนุน จำนวน ๔๑ ครัวเรือน ประชากร ๒๕๖ คน สามารถใช้น้ำสำหรับการอุปโภค บริโภคได้อย่างเพียงพอ
๓. ราษฎรบ้านห้วยขนุน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีผลผลิตและรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น
๔. สามารถอนุรักษ์ รักษาสภาพต้นน้ำลำธารธรรมชาติ ทำให้เกิดความชุ่มชื้นแก่พื้นดินและป่าไม้ โดยราษฎรมีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ไม่บุกรุก แผ้วถางป่า เพื่อใช้ทำการเกษตรเพิ่มเติมอีก
ฝายบ้านห้วยขนุน บ่อเก็บน้ำ คสล. ขนาดความจุ ๕๐ ลบ.ม.
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ