๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

โครงการ ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่เกิดอุทกภัยและดินถล่ม จังหวัดอุตรดิตถ์

จังหวัด อุตรดิตถ์


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

สืบเนื่องมาจากเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ ได้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอุทกภัยและ ดินถล่มในเขตท้องที่อำเภอลับแล อำเภอพิชัย อำเภอท่าปลา และอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ สร้างความเสียหายแก่ชีวิตทรัพย์สินของราษฎร รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เป็นอย่างมาก ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านแม่เฉย หมู่ที่ ๕ ตำบลด่านนาขาม ทรงเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และได้พระราชทานพระราชดำริแก่ นายสมพล พันธุ์มณี เลขาธิการ กปร. ในขณะนั้น ให้พิจารณาสนับสนุนการดำเนินงาน ในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าไม้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยและดินถล่ม

ผลการดำเนินงาน :

๑. พื้นที่ที่ ๑ ลุ่มน้ำลี ตำบลน้ำหมัน ตำบลแม่จริม อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ดำเนินการกิจกรรมสร้างกระบวนการเรียนรู้ การป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ โดยการเพาะชำกล้าไม้ทั่วไป ๒๕,๐๐๐ กล้า จัดทำฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน ๓๐ แห่ง จัดทำฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร ๑๐ แห่ง ส่งเสริมกิจกรรมการปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ในพื้นที่ ๕๐ ไร่ จัดทำแนวกันไฟป่า ระยะทาง ๑๐ กิโลเมตร

๒. พื้นที่ที่ ๒ ลุ่มน้ำแม่เฉย ตำบลบ้านด่านนาขาม อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ดำเนินการสร้างกระบวนการเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ โดยงานเพาะชำกล้าไม้ ๒๕,๐๐๐ กล้า เพาะชำกล้าไม้มีค่า ๕,๐๐๐ กล้า จัดทำฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน ๕๐ แห่ง ฝายต้นน้ำกึ่งถาวร ๑๐ แห่ง พร้อมทั้งส่งเสริมและขยายผลการพัฒนาป่าไม้โดยการปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ในพื้นที่ ๕๐ ไร่

๓. พื้นที่ที่ ๓ ลุ่มน้ำห้วยขุนฝาง ตำบลขุนฝาง อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดทำกิจกรรมส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้านป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ งานเพาะชำกล้าไม้ ๕,๐๐๐ กล้า การจัดทำฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน ๔๕ แห่ง ฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร ๑๐ แห่ง กิจกรรมปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ในพื้นที่ ๕๐ ไร่

๔. พื้นที่ที่ ๔ ลุ่มน้ำห้วยปู่เจ้า ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ดำเนินกิจกรรมการสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ จัดทำการเพาะชำกล้าไม้ทั่วไป ๒๕,๐๐๐ กล้า เพาะชำกล้าไม้มีค่า ๕,๐๐๐ กล้า จัดทำฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน ๓๐ แห่ง ฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร ๑๐ แห่ง การส่งเสริมงานขยายผลโดยการปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง จำนวน ๕๐ ไร่

ประโยชน์ที่ได้รับ : การอนุรักษ์และการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ในพื้นที่ส่งผลให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ คนในชุมชนมีความสำนึกรักษาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กิจกรรมกระบวนการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และพัฒนาชุมชนสังคมให้มีความยั่งยืน สามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยและดินถล่ม ราษฎรในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

ที่มา : สำนักประสานงานโครงการพื้นที่ ๓

ข้อมูล : ณ วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๖

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม