๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

โครงการ พัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านดอยก้อม

ตำบล บ้านโฮ่ง อำเภอ บ้านโฮ่ง จังหวัด ลำพูน


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

ความเป็นมา : พระอาจารย์สุชิน วิมโล อยู่ที่สำนักวิปัสสนาถ้ำตอง ตำบลป่าแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอน้อมเกล้าฯถวายที่ดิน ในเขตตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน จำนวน ๔ แปลง รวมเนื้อที่ ๑๓ ไร่ ๓ งาน ๓๑ ตารางวา ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อใช้ประโยชน์ตามพระราชอัธยาศัย โดยสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ดำเนินการรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ต่อมาได้มีการรังวัดสำรวจที่ดินแปลงดังกล่าวในเบื้องต้น โดยกรมชลประทาน พบว่ามีเนื้อที่ในหลักเขตที่ดินจำนวน ๒๔ ไร่ ๙๔ ตารางวา ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านดอยก้อม โดยได้จัดทำเป็นแปลงสาธิตการทำการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี หรือเกษตรอินทรีย์ และเป็นแหล่งรวบรวมขยายผลการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีทางการเกษตรแผนใหม่ ที่มีความเหมาะสมต่อการนำไปประยุกต์ในพื้นที่จริงของประชาชนในพื้นที่ 

หน่วยงานรับผิดชอบ : มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 

ผลการดำเนินงาน : สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ประสานกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ในการดำเนินการพัฒนาที่ดินแปลงดังกล่าว โดยในปี ๒๕๕๑ ได้จัดทำแผนพัฒนาปรับปรุงดูแลรักษาพื้นที่ สรุปได้ดังนี้ 

๑. แผนงานพัฒนาพื้นที่ด้านการเกษตรและประมง ได้แก่

๑.๑ กิจกรรมด้านไม้ผล ได้มีการขยายพันธุ์ไม้ผลและนำไปจำหน่าย ได้แก่

- ลำไยทรงเตี้ยและลำไยระยะชิด มีผลผลิตน้ำหนักรวม ๑,๐๘๖ กิโลกรัม นำไปจำหน่ายได้รายได้เข้าโครงการจำนวน ๑๐,๗๔๐ บาท

- น้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่อง มีผลผลิตน้ำหนักรวม ๑๑๕ กิโลกรัม นำไปจำหน่ายได้รายได้เข้าโครงการจำนวน ๔,๕๕๐ บาท

- มะม่วงพันธุ์เขียวมรกต มีผลผลิตน้ำหนักรวม ๗๑๒ กิโลกรัม นำไปจำหน่ายได้รายได้เข้าโครงการจำนวน ๕,๗๐๐ บาท

๑.๒ เสริมได้แก่ ทับทิม มะละกอ แก้วมังกร ซึ่งจะให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ในปี ๒๕๕๒ การปลูกฝรั่งให้ผลผลิต ๖๕ กิโลกรัม สร้างรายได้เข้าโครงการจำนวน ๕๖๐ บาท นอกจากนี้ ได้มีการปลูกถั่วฝักยาว มะเขือ และแตงกวา เสริมในพื้นที่โครงการ และนำผลผลิตที่ได้นำไปจำหน่าย ได้รายได้เข้าโครงการ ๔,๒๘๐ บาท

- กิจกรรมการเพาะเลี้ยงปลาดุกและปลานิล ได้นำพันธุ์ปลาดุกจำนวน ๒๐๐ ตัว และนำพันธุ์ปลานิลจำนวน ๒,๐๐๐ ตัว มาปล่อยไว้บริเวณอ่างน้ำในโครงการฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อใช้เป็นโครงการต้นแบบของจังหวัด โดยอยู่ในขั้นทดลอง

๒. แผนงานพัฒนาด้านการฝึกอบรม และการขยายผลวิจัย ได้แก่

- ด้านการฝึกอบรมและส่งเสริมอาชีพ ได้ทำการประสานงานกับศูนย์ฯห้วยฮ่องไคร้ เพื่อนำเกษตรกรเข้าฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นทางด้านการเกษตรๆ เช่น การเลี้ยงกบ การเลี้ยงปลา การเพาะเห็ด การเลี้ยงหมูป่า เป็นต้น และได้มีการจัดอบรมโครงการกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกน้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่อง เพื่อขยายผลให้กับชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียงที่สนใจปลูกเป็นรายได้เสริมให้กับกลุ่มชุมชน

- ด้านการขยายผลวิจัย ได้จัดทำแปลงตัวอย่าง เช่น ลำไยทรงเตี้ย ลำไยระยะชิด น้อยหน่าเพชรปากช่อง เพื่อเกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ภายหลังจากทำการวิจัยแล้วพบว่าคุณภาพของดินในพื้นที่โครงการเหมาะสมกับการปลูกลำไย และน้อยหน่า นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาดูงานในแต่ละพื้นที่และกิจกรรม เช่น การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ การเลี้ยงหมูหลุม เป็นต้น เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของโครงการ

การดำเนินงานในระยะต่อไป : แผนงานด้านการเกษตร โดยทางโครงการฯ ตั้งเป้าหมายคือ ดูแลบำรุงต้นไม้เดิมให้มีสภาพต้นที่สมบูรณ์ สามารถให้ผลผลิตทั้งในฤดูและนอกฤดูที่มีคุณภาพ ดูแลบำรุงรักษาแปลงรวบรวมพันธุ์ลำไยเพื่อการอนุรักษ์การศึกษาและให้ความรู้ จัดทำแปลงรวบรวมพืชสมุนไพร เพื่อการอนุรักษ์การศึกษา ให้ความรู้และสร้างรายได้ให้กับโครงการ ทดสอบการผลิตปุ๋ยจากไส้เดือนดิน กิจกรรมการเลี้ยงหมูหลุมแบบอินทรีย์ กิจกรรมการเลี้ยงไก่พื้นเมืองและไก่ไข่แบบอินทรีย์ เพื่อเป็นทางเลือกเสริมให้กับเกษตรกรที่สนใจ 

แผนงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน การฝึกอบรม และการวิจัย โดยจะดำเนินการฝึกอบรมในด้านการขยายพันธุ์พืช การผลิตพืชอย่างมีคุณภาพและการผลิตปุ๋ยหมักปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ การผลิตปุ๋ยจากไส้เดือนดิน การเลี้ยงหมูหลุม การเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบอินทรีย์ จัดทำโครงการกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตไม้ผลคุณภาพ จัดสร้างโรงเลี้ยงไส้เดือนดิน และผสมดินเพื่อใช้เรียนรู้การผลิตปุ๋ยจากไส้เดือนดิน จัดสร้างโรงเลี้ยงไก่พื้นเมืองอินทรีย์และโรงเลี้ยงหมูหลุมพร้อมห้องเก็บอาหารสัตว์เพื่อใช้เรียนรู้การเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบอินทรีย์ และการเลี้ยงหมูหลุมแบบอินทรีย์ พร้อมทั้งสระเดิมให้สามารถรองรับน้ำในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการเกษตร